เมื่อวันก่อนมีการลงนาม MOU ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหา เพื่อขจัดภัยจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำระยะเร่งด่วน  ระหว่าง กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร ในการร่วมดำเนินงานแบบบูรณาการ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านวิชาการ และการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำปลาหมอคางดำที่จับออกจากธรรมชาติ โดยนำไปกำจัดด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ เพื่อรองรับและสนับสนุนภารกิจต่างๆ ที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์การปฏิบัติของทุกหน่วยงาน เรียกว่าเป็น Big Cleaning ที่มุ่งขจัดปลาหมอคางดำ 3  ล้านกิโลกรัม ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อให้ปลาหมอคางดำหมดไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร  

งบประมาณ 60 ล้านบาทจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญให้กรมประมงและทุกภาคส่วนบูรณาการความร่วมมือกำจัดปลาหมอคางดำได้ถึง 3 ล้านกิโลกรัมตามเป้าประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงมือจัดการกับ “บ่อร้าง” ทั้งบ่อกุ้งบ่อปลา ที่เกษตรกรปล่อยทิ้ง ไม่ได้เลี้ยงสัตว์น้ำใดๆ จนมีปลาหมอคางดำมาอาศัยน้ำนิ่งในบ่อร้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และเจริญเติบโต 

บ่อร้าง จึงเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำล้มเหลว ซึ่งกลายเป็นหัวข้อที่เกษตรกรในหลายจังหวัดเอ่ยถึง และฝากความหวังให้กรมประมงเร่งดำเนินการจัดการเสียให้สิ้น  ซึ่งต้องรอดูวิธีการปฏิบัติอีกทีว่ารัฐจะจัดการออกมาในรูปแบบใด  

อาจใช้วิธีป้องปรามก่อน โดยเจ้าของบ่อร้างต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประมงที่เข้าทำการตรวจสอบ หรืออาจแจ้งโดยตรงที่ประมงอำเภอ/จังหวัดถึงจำนวนบ่อร้างที่ตนมี  เพื่อให้รัฐเข้าดำเนินการจับปลาออกโดยเร็ว จากนั้นรัฐจะเข้าทำการจับปลาและนำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น ส่งกรมพัฒนาที่ดินทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือส่งมอบให้กรมราชทัณฑ์ กรณีที่ส่งผู้ต้องขังลงมือจับปลา เนื่องจากเจ้าของบ่อไม่ใช่เจ้าของปลาหมอคางดำและจำเป็นต้องกำจัดออกจากบ่อของตนโดยเร็วที่สุด วิธีการนี้จึงเป็นไปในรูปแบบ Win-Win เจ้าของบ่อจะได้ประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องจ้างแรงงานมาจับปลา ขณะที่ผู้จับซึ่งก็คือรัฐสามารถนำปลาไปใช้ประโยชน์ตามมาตรการที่วางไว้ได้เลย  ขณะเดียวกันรัฐควรให้ความรู้ในการเตรียมบ่อ รวมถึงแจกจ่าย “กากชา” เพื่อให้เจ้าของบ่อร้างใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดก่อนทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นกำหนดขอบเขตระยะเวลาให้เจ้าของบ่อร้างได้แจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ถึงคราวต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมิให้มีปลาหมอคางดำหลงเหลือในบ่อร้าง เพื่อลดความเสี่ยงที่ปลาจะหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้อีก โดยรัฐควรกำหนดเกณฑ์การตรวจสอบ ความถี่ในการติดตาม ตลอดจนบทลงโทษที่เด็ดขาดชัดเจน

เป้าหมายในการกำจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์อาจเป็นไปไม่ได้ แต่การจำกัดจำนวนประชากรของมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เป็นไปได้แน่นอน ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง จริงใจและต่อเนื่อง  ภายใต้ “แรงจูงใจ” ทั้งในรูปแบบงบประมาณ ผลประโยชน์ และตัวบทกฎหมาย

โดย : ปิยะ นทีสุดา