วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ผู้ต้องขังคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หลังได้รับการพักโทษ ยังเหลือผู้ต้องขังคดีเดียวกันคนอื่นๆ ได้ถูกพักโทษด้วยหรือไม่ ว่า ถ้าใครเข้าเกณฑ์ส่วนใหญ่จะมีพักโทษ ตนได้บอกกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์รวบรวมประเด็นและให้ชี้แจง ซึ่งในการปฏิบัติเหมือนกับแผ่นเสียงตกร่อง กระทรวงยุติธรรมโดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์เราจะปฏิบัติตามกฎหมายการพักโทษ ถือว่าคนที่พักโทษไปยังมีโทษอยู่ ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของกฎหมายที่กำหนดไว้ ในอดีตกฎหมายอาจไม่ได้กำหนดขนาดนี้ แต่ตอนนี้มีเกณฑ์พักโทษ โดยหลักคร่าวๆ คือ ต้อง 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ของบางประเภท ซึ่งมีเกณฑ์อยู่

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส่วนกรณีนายบุญทรงที่บางคนบอกว่าโทษดูเยอะนั้น อยากชี้แจงว่า นายบุญทรง ได้รับการอภัยโทษมาแล้ว 4 ครั้ง เหลือโทษประมาณ 10 ปี แต่นายบุญทรงถูกลงโทษไปแล้ว 7 ปี 6 เดือน จะเหลือโทษอีกประมาณ 3 ปี โดยจะได้รับการพักโทษประมาณ 3 ปี ทั้งนี้ ในการพักโทษเราจะถือภูมิลำเนาของผู้เป็นอุปการะเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กรณีของนายบุญทรง มีลูกชายเป็นผู้อุปการะ และได้แจ้งว่าจะไปอยู่ จ.เชียงใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ จะต้องติดกำไลอีเอ็ม ต้องรายงานตัวกับกรมควบคุมประพฤติที่เชียงใหม่ ส่วนของคนอื่นๆ ในคดีเดียวกันทราบว่ามีหลายคน รวมถึงข้าราชการที่จะได้รับการพักโทษด้วย ซึ่งมีหลายคนที่ได้รับการพักโทษไปแล้ว

พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่าเราจะพยายามไม่เลือกปฏิบัติ และใช้เกณฑ์เดียวกัน เนื่องจากการพักโทษ ใครจะไปสั่งการคงยาก เพราะคณะกรรมการและอนุกรรมการพิจารณาการพักโทษ ถ้าอนุกรรมการไม่เป็นเอกฉันท์ก็จะให้มีการทบทวน ซึ่งในอนุกรรมการจะมาจากทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ กรมควบคุมประพฤติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบุญทรงสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ 100% แต่ถ้าจะเดินทางออกจาก จ.เชียงใหม่ จะต้องขออนุญาต

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คดีของนายบุญทรงมีโทษจำคุกเยอะ แต่ติดคุกเพียงไม่กี่ปีก็ได้ออกมา พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีที่ประเทศไทย ประเทศเดียว แต่มีอยู่ทั่วโลก ตนเพิ่งจะพบกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ของมาเลเซีย เขาบอกว่าปีก่อนในเรือนจำของมาเลเซีย มีประมาณ 7 หมื่นคน แต่ไปอยู่ข้างนอกหรือพักโทษ เป็นกระบวนการให้อยู่กับชุมชน เป็นการควบคุมความประพฤติประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งในปีที่จะถึงนี้เขาจะเปลี่ยนวิธีใหม่เป็นการพัฒนาพฤตินิสัยคือ จะสลับกัน โดยเอา 7 หมื่นคนออกไปอยู่ในชุมชน เพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ก้าวพลาด มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี 

สำหรับในกรณีผู้สูงอายุเราเชื่อว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำ เราใช้หลักอาชญาวิทยา ที่สำคัญกฎหมายราชทัณฑ์ของเรา แม้แต่ตัวรัฐมนตรีแทบไม่มีอำนาจ มีเพียงแค่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการพักโทษ โดยกฎหมายนี้ออกแบบเมื่อปี 2560 ซึ่งในการออกแบบนั้นเขาจะไม่ไว้ใจคดีจำนำข้าวอยู่แล้ว จึงออกมาในรูปแบบกรรมการ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยว่ากรรมการที่พิจารณาพักโทษเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ไปจนถึงศาล แต่อย่างไรก็ตาม การอภัยโทษนี้ไม่อยู่ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์

เมื่อถามว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะสามารถกลับมาในช่องทางไหนบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ช่องทางกฎหมายอย่างเดียว คนที่กลับมาจะต้องไปรายงานตัวที่ศาล ซึ่งจะต้องมีหมายขังและเข้าไปสู่กระบวนการ จะไม่มีอะไรพิเศษ ถ้าจะมีกรณีพิเศษคือ มีการอาการป่วยก็ไปรักษา แต่คนเรามันไม่ได้ป่วยได้ทุกคน ต้องไปตามความเป็นจริง

เมื่อถามย้ำว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เหมือนกับนายทักษิณใช่หรือไม่ เพราะอายุยังไม่ถึง 60 ปี พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนยังไม่เคยได้รับการประสานเรื่องนี้ ย้ำว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า คนที่ได้รับการพักโทษในครั้งนี้ จะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการปูทางให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การพักโทษแต่ละครั้งประมาณพันกว่าคน รวมถึงคดียาเสพติดด้วย อย่างกรณียาเสพติดถ้ากลับไปมั่วสุมกับกลุ่มเดิม เราก็จะยกเลิกการพักโทษ วันนี้กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมเราให้ความสำคัญเรื่องการไม่กลับมาวงจรการกระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งมีตัวเลขที่น่าตกใจคือ บางครั้งคนที่อยู่ในเรือนจำ พอปล่อยออกไปมีการกระทำผิดซ้ำปีแรกเกือบ 17% พอปีที่ 3 เกือบ 40% แต่คนที่เราใช้วิธีคุมประพฤติมีการกระทำผิดซ้ำไม่ถึง 9% เท่านั้น ดังนั้น สังคมและชุมชนจึงมีความสำคัญ