เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “พระเครื่องวัดบวรนิเวศวิหาร” นั้น ถือเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การจัดสร้าง ‘พระกริ่งปวเรศ’ ในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เรื่อยมา
‘สัปดาห์พระเครื่อง’ ฉบับนี้ มีเหรียญเก่าแก่ของวัดบวรฯ ในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ อีก 2 เหรียญ ในชุด “เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก” มาแนะนำ ด้วยคุณค่าของวัตถุประสงค์การจัดสร้าง ด้วยพุทธคุณอันเป็นเลิศ และด้วยลักษณะแม่พิมพ์ที่แปลกตาน่าศึกษา อีกทั้งยังเป็นเหรียญที่หายากยิ่งอีกชุดหนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร ณ ปัจจุบันครับผม
เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก ชุดนี้ ในหนังสือ "เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2525" ที่ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้กล่าวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาโดยสรุปไว้ว่า
เหรียญชุดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกใน "พระราชพิธีมหาสมณุตตมาภิเศก" เลื่อนพระอิสริยยศของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต หรือ “สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 พระชนมายุได้ 82 พรรษา จากนั้นมาประมาณ 10 เดือน พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2435
เหรียญที่ระลึกใน "พระราชพิธีมหาสมณุตตมาภิเศก" เลื่อนพระอิสริยยศของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือที่เรียกว่า “เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก” นั้น มีการจัดสร้างเหรียญขึ้น 2 แบบ คือ
1. แบบ 1 เรียกว่า "เหรียญปวเรศ" หรือ "เหรียญบาตรน้ำมนต์"
2. แบบ 2 เรียกว่า "เหรียญมือ"
เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบ 1 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "เหรียญปวเรศ" หรือ “เหรียญบาตรน้ำมนต์" นับว่าเป็นวัตถุมงคลของวัดบวรฯ ที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงเคียงคู่มากับ "พระกริ่งปวเรศ" ทีเดียว เพียงแต่เหรียญปวเรศมีการจัดสร้างจำนวนมากกว่า จึงทำให้สนนราคาค่านิยมลดหลั่นกันไป อย่างไรก็ตาม การจะหาเหรียญปวเรศสักเหรียญมาครอบครองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
หนังสือ "เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2525" หน้า 73 กล่าวถึงเหรียญนี้ไว้ว่า ...
เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบ ๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ขอบเรียบ ด้านหน้า เป็นรูปอัฐบริขาร พัดยศ และเบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๕ ชั้น) มีอักษรเป็นภาษามคธว่า "อยํโข สุขิโตโหติ นิทฺทุกฺโข นิรุปทฺทโว อนันตราโย ติฏฺเฐยฺย สพฺพโสตฺถี ภวันฺตุเต" แปลว่า ผู้นี้แลมีความสุข ไร้ความทุกข์ ไร้อุปัทวะ ไม่มีอันตราย พึงดำรงอยู่ ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน ด้านหลัง มีข้อความว่า "ที่รฤก งานมหาสมณุตตมาภิเศก พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐" (ด้านบนคำว่า "ศก" มีเลขไทย "๒๔") ชนิดทองแดง ขนาดส่วนกว้าง ๔๔ มิลลิเมตร ส่วนยาว ๕๕ มิลลิเมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๓๔...
จากข้อมูลในหนังสือดังกล่าว แสดงว่า เหรียญปวเรศ หรือ เหรียญบาตรน้ำมนต์ นี้ มีการจัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง ที่มีขนาดค่อนข้างเขื่อง และจากรูปลักษณะของเหรียญ แสดงให้เป็นถึงความประณีตบรรจงสร้างสรรค์ของช่างฝีมือผู้ทำแบบแม่พิมพ์ ที่สามารถบรรจุเครื่องอัฐบริขาร พัดยศ และเบญจปฎลเศวตฉัตรทั้งหมดไว้ในเหรียญได้อย่างเหมาะเจาะ แลดูสวยงามสง่า การพิจารณาให้ดูฝาบาตรในตัวเหรียญจะมีขอบปลิ้นอยู่ด้านบน และเหรียญจะมีน้ำหนักมาก
สำหรับ เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบที่ 2 หรือที่นักนิยมสะสมพระเครื่องมักเรียกกันว่า "เหรียญมือ" นั้น เป็นเหรียญเนื้อทองแดงเช่นกัน จัดสร้างเพื่อพระราชทานเป็นรางวัลเครื่องโต๊ะ
ลักษณะเป็น เหรียญรูปไข่ เจาะรูตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยม ด้านหน้าของเหรียญ เป็นรูปมือ ทางด้านซ้ายของเหรียญเป็นรูปมือขวาแบมือ ด้านขวาของเหรียญเป็นรูปมือซ้ายแบมือ ด้านละ 4 มือ โดยแสดงท่านิ้วมือต่างๆ กัน ตรงกลางตอนล่างเป็นมือซ้ายแบมือ เหยียดนิ้วตรงทั้ง 5 นิ้ว รวมทั้งหมดมี 9 มือ เหนือรูสี่เหลี่ยม เป็นรูปฉัตรตาดขาว 5 ชั้น มีระบาย 2 ชั้น ขอบระบายติดแถบ ด้านหลังเป็นอักษรไทยประดิษฐ์เลียนแบบตัวอักษรจีน (เหมือนกับอักษรในเหรียญจับโป๊ยล่อหั่น) อ่านจากด้านบนลงล่างความว่า "มหาสมณุตมา" อ่านจากขวามาซ้ายว่า "ภิเศก ร.ศ.๑๑๐" ขนาดของเหรียญเท่ากับ ‘เหรียญปวเรศ’ คือ กว้าง 44 มิลลิเมตร ยาว 55 มิลลิเมตร
สาเหตุที่นักนิยมสะสมพระเครื่องเรียกกันว่า "เหรียญมือ" ก็เพราะเหรียญมีรูปมืออยู่หลายมือครับ ส่วนรูปแบบของเหรียญนั้นทำตามแบบคติของพุทธศาสนามหายานของจีน เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระหัตถ์ปางต่างๆ ของพระพุทธเจ้าตามแบบคติมหายาน ซึ่งเป็นปริศนาธรรม ปัจจุบันเรียกได้ว่า เหรียญแท้ๆ ยากยิ่ง และสนนราคาค่านิยมสูงเป็นรอง ‘เหรียญปวเรศ’ อยู่นิดหน่อยครับผม
โดย ราม วัชรประดิษฐ์