“สมศักดิ์” ร่วมเวทีเปิดประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก ชี้ เป็นโอกาสสำคัญ ได้ร่วมกันเตรียมพร้อมป้องกัน-ตอบโต้ภัยโรคระบาดใหญ่ ยัน ไทย มุ่งพัฒนาสาธารณสุข ผ่านนโยบายสำคัญ NCDs

วันที่ 2 ธ.ค.2567ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทลส์ และทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกล่าวพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา นางสาวไซมา วาเซด ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนรัฐสภาประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คณะทูตานุทูตประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วม ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทลส์ และทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ต้อนรับทุกท่าน สู่การประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก ในวันนี้ โดยตนขอขอบคุณรัฐสภาไทย สหภาพรัฐสภา และองค์การอนามัยโลก ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญ ที่สมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี จากประเทศต่างๆในภูมิภาค รวมทั้งได้พบปะหารือกันถึงความท้าทาย และแนวทางการส่งเสริมบทบาทของรัฐสภา และความร่วมมือในการสนับสนุน การพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ ภูมิภาค และโลกต่อไป

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมความพร้อมป้องกัน และตอบโต้ภัยโรคระบาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น และเกิดผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินบทบาทที่สำคัญ ในด้านความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก โดยเข้าเป็นสมาชิกของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ประเทศไทยสามารถจัดการตอบโต้การระบาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จนได้รับการประเมินตัวชี้วัด ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ ในลำดับต้นๆของโลก” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทย ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพ ผ่านนโยบายสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค และการพัฒนาขีดความสามารถในระดับชาติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วยการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันที่ต้นเหตุ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในระบบสุขภาพ และการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทุกภาคส่วน และสุขภาพภาคประชาชน โดยตนเชื่อมั่นว่า การประชุมในครั้งนี้ จะส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ในการเสริมสร้างความมั่นคง
ด้านสุขภาพในภูมิภาคของเราต่อไป