ตามที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ CPP ผู้ดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วซ จำกัด(มหาชน) หรือ BKP ผู้ดำเนินธุรกิจจัดซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ ได้ผนึกกำลังกับสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา หรือ MCIA ร่วมมือกันยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา ไม่รับซื้อจากพื้นที่ป่า และพื้นที่ที่มีการเผาแปลง โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจสอบจุดความร้อน (Hot Spot) รวมถึงใช้ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ในการจัดเก็บและจัดการข้อมูล โดยพ่อค้าผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาจะเข้ามาใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่บริษัทในเครือซีพีพัฒนาขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำร่องทันทีบนเนื้อที่กว่า 570,000 เอเคอร์ที่รัฐฉานใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ของเมียนมา ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการลดหมอกควันข้ามแดน ปกป้องสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ
นายวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส หรือ CPP พร้อมเต็มที่ในการขับเคลื่อนระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ร่วมกับคู่ค้า พ่อค้าผู้รวบรวม และเกษตรกร ในประเทศเมียนมา โดยจะเป็นการตรวจสอบย้อนกลับ 100% ทั้งเมล็ดพันธุ์และข้าวโพดอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ 3 ผู้นำเครือซีพี ได้แก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ที่มุ่งมั่นตั้งใจและให้ความสำคัญเต็มที่และเร่งให้ขับเคลื่อนโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันซีพีทั้ง CPP ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์และ BKP ผู้ดำเนินธุรกิจจัดซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ได้ผนึกกำลังใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน โดยเริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้บนเนื้อกว่า 570,000 เอเคอร์ ซึ่งระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมตรวจสอบพื้นที่ป่า และติดตามจุดความร้อน เพื่อป้องกันการเผาแปลง โดยประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 6 ขั้นตอน ได้แก่ การขึ้นทะเบียนคู่ค้าและการวาดขอบเขตแปลงเพาะปลูก, การระบุพิกัดของพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม, การตรวจสอบแนวป่าเพื่อรับรองพื้นที่เพาะปลูก, การติดตามจุดความร้อนในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม, การตรวจสอบพื้นที่ที่มีการเผาแปลง และการยืนยันพื้นที่สุทธิและการเก็บข้อมูลการผลิต ทุกขั้นตอนนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าและการเผาแปลง อีกทั้งยังช่วยในการคำนวณผลผลิตที่สามารถรับซื้อได้
ขั้นตอนแรกคือ การขึ้นทะเบียนคู่ค้าและการวาดขอบเขตแปลงเพาะปลูก จะมีการลงทะเบียนคู่ค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงเกษตรกรและผู้รวบรวมข้าวโพด จากนั้นจะมีการวาดแผนที่ขอบเขตแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละราย โดยระบุพิกัดและข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกแปลงมีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 2 การระบุพิกัดของพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ขั้นตอนนี้มีการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาใช้ในการยืนยันพื้นที่การเพาะปลูกและติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจะช่วยป้องกันการบุกรุกป่าและการเผาแปลงเพาะปลูก
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบแนวป่า โดยตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ย้อนหลังถึงปี 2020 สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) จะตรวจสอบและหักพื้นที่ป่าที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตาม เพื่อรับรองว่าการเพาะปลูกไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าที่เป็นแนวป่าดั้งเดิม
ขั้นตอนที่ 4 ติดตามจุดความร้อนในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะมีการติดตามและบันทึกจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้แปลงเพาะปลูก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการเกิดไฟไหม้สูงที่สุด ข้อมูลนี้จะช่วยป้องกันการเผาแปลงและรักษาสิ่งแวดล้อม โดย 1 จุดความร้อนเท่ากับพื้นที่ 15.4 ไร่
ขั้นตอนที่ 5 การตรวจสอบพื้นที่ที่เผาแปลงเพาะปลูก ระบบจะทำการคำนวณและหักพื้นที่ที่ถูกเผาแปลงออกจากพื้นที่การเพาะปลูกทั้งหมด โดยคำนวณจากจำนวนจุดความร้อนที่ตรวจพบในพื้นที่นั้น ๆ ขั้นตอนนี้เป็นการยืนยันว่าข้าวโพดที่จัดหามานั้นมาจากพื้นที่ที่ปลอดจากการเผาและสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขั้นตอนที่ 6 การยืนยันพื้นที่สุทธิและการเก็บข้อมูลการผลิต หลังจากหักพื้นที่ป่าและพื้นที่เผาแปลงเพาะปลูกออกแล้ว จะได้พื้นที่สุทธิที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าวโพด ระบบนี้จะบันทึกข้อมูลการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการส่งออก เพื่อให้สามารถตรวจสอบที่มาของข้าวโพดได้อย่างชัดเจน
นายวรสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนำร่องในรัฐฉานตอนใต้ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดกว่า 570,000 เอเคอร์ จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา ระบบตรวจสอบย้อนกลับนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อในตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม และขั้นตอนทั้งหกขั้นตอนนี้ได้รับการพัฒนาโดยอาศัยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและระบบบล็อกเชนเพื่อให้มั่นใจว่าการเพาะปลูกข้าวโพดในเมียนมามีความโปร่งใสและเป็นไปตามมาตรฐานที่ยั่งยืน”
นายอู เอ ชาน อ่อง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) ได้แสดงความคิดเห็นถึงโครงการนี้ว่า “ระบบตรวจสอบย้อนกลับของ CPP เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวโพดในเมียนมา ช่วยให้เกษตรกรและพ่อค้ามีโอกาสเข้าถึงตลาดที่มีมาตรฐานสูง และสร้างความมั่นใจในกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ระบบนี้จะช่วยให้การจัดการห่วงโซ่อุปทานมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งจะส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว”
ดร.พโย โก โก ไนง์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Alliance Eagles Group Limited และเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) ได้เสริมถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยเน้นถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยสมาคมฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับเกษตรกรและพ่อค้าในพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
โครงการตรวจสอบย้อนกลับของ CPP ถือเป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มุ่งเน้นความโปร่งใสและมาตรฐานสูง ทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต
สำหรับรัฐฉาน ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมา ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบสูง มีพรมแดนติดกับประเทศจีน ลาว และไทย โดยมีจังหวัดในไทยที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ทั้งหมด 104.2 ล้านไร่ โดยสัดส่วนการใช้ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ถึง 74.8% รองลงมาคือทุ่งหญ้า 15.5% และพื้นที่เกษตรกรรม 7.8% พื้นที่เกษตรกรรมของรัฐฉานประกอบด้วยนาข้าวมากที่สุด คิดเป็น 35% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ตามด้วยข้าวโพด 22% พืชตระกูลถั่ว 11% และผัก 5% ส่วนที่เหลือเป็นพืชอื่นๆเช่น ยางพารา ถั่วลิสง งา และอ้อย