6 ศูนย์ศึกษา 19 ศูนย์สาขา 221 ศูนย์เรียนรู้ กระจายโอกาส จากมีกิน มีใช้ สู่เชิงพาณิชย์
ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงให้แก่ประเทศ สิ่งที่เป็นประจักษ์ คือ พระปรีชาสามารถที่สมบูรณ์แบบและล้ำยุคสมัย เพื่อการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ เป้าหมายบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด ผ่านการสร้างระบบแรงจูงใจที่เหมาะสมใน 3 องค์ประกอบที่ตอบโจทย์ ทำอะไร ทำไม และอย่างไร พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง กับ 19 ศูนย์สาขา ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาวิจัย ทดลอง ตามบริบทของสังคม และภูมิประเทศ ทรงแนะแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นตัวอย่างการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้น และให้เกษตรกรร่วมกันในรูปแบบของกลุ่มสหกรณ์ เพื่อดำเนินการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ และการศึกษา จากนั้นจึงขยายผลพัฒนาต่อยอด ก่อเกิดประโยชน์แก่ชาวไทยอย่างอเนกอนันต์
จวบจนปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทุกด้านเพิ่มขึ้น เพื่อความกินดีอยู่ดี มีความมั่นคงในชีวิตของประชาชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า เพื่อขยายผลสู่เกษตรกรและประชาชนรายอื่นๆ ได้เข้าถึงโอกาสอย่างกว้างขวาง ในผลสำเร็จจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริฯ ขึ้น มีผู้ผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว จำนวน 221 แห่ง (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2567) ซึ่งมีองค์ความรู้หลายสาขา ได้แก่ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ
“มีการจัดตั้งอาคารร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย ร้านสิริพัฒนภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จ.จันทบุรี ร้านเลิศพัฒนภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จ.สกลนคร ร้านบวรพัฒนภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี และร้านพิกุลเกษตรภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส ซึ่งในปี 2567 สำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พัฒนาต่อยอดผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ศูนย์สาขาฯ และเกษตรกรขยายผล ให้ได้รับเลขที่จดแจ้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย. จำนวนกว่า 70 รายการ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และเกษตรกรมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น” นางสุพร ตรีนรินทร์ กล่าว
นับเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างสมดุลทั้งด้านวัตถุ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นความยั่งยืนมากกว่าการหวังผลระยะสั้น ผลที่พึงปรากฏในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ว่าการพัฒนาที่สมบูรณ์นั้นต้องไม่เพียงมุ่งเน้นแต่การสร้างรายได้ แต่ต้องคำนึงถึงการที่จะทำให้ “ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการแบ่งสรรประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจะก่อเกิดความสมานฉันท์ในสังคมและความชอบธรรมของระบบเศรษฐกิจแบบอาศัยซึ่งกันและกันอย่างทั่วถึงสืบไป