วันที่ 2 ธ.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าแนวทางพัฒนาด้านผู้พิการว่า ปัจจุบัน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีการจ้างผู้ช่วยคนพิการอัตราชั่วโมงละ 50 บาท ไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง ซึ่งผู้ช่วยคนพิการดังกล่าว จัดอยู่ในประเภทงาน Caregiver ลักษณะคล้ายพยาบาลดูแลผู้ป่วย เช่น อาบน้ำ ทำอาหาร ใส่เสื้อผ้า โดยส่วนใหญ่จะทำตามแผนกิจวัตรประจำวันและเวลากำหนด เพื่อความสะดวกในการดูแลผู้พิการแต่ละวัน เพราะ Caregiver บางคนอาจต้องดูแลผู้พิการมากกว่า 1 คนใน 1 วัน จึงมีการกำหนดกิจวัตรประจำวันให้ผู้พิการครอบคลุมทั้งหมด เช่น ตื่นกี่โมง ตัดผมทรงอะไร กินอะไร เป็นต้น

 

ดังนั้น การบริการลักษณะนี้ ทำให้ผู้พิการถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกได้ จึงมีแนวคิดส่งเสริมผู้ช่วยคนพิการในประเภท Personal Assistant (PA) หรือคนที่จะช่วยผู้พิการออกไปทำกิจกรรมในสังคมภายนอก เช่น พาไปพบแพทย์ หรือออกไปใช้ชีวิตในสังคมเหมือนคนปกติ โดยแนวคิดดังกล่าว อาจใช้ชื่อโครงการเพื่อนผู้พิการ ในลักษณะจ้างงานเพื่อดูแลผู้พิการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปทิศทางความเป็นไปได้ จากการติดตามข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการจ้าง PA จำนวนน้อย คาดว่ามีจังหวัดละประมาณ 5-10 คน

 

นายภาณุมาศ กล่าวว่า แนวคิดโครงการเพื่อนผู้พิการ หรือ PA เป็นไปตามเสียงสะท้อนของคนพิการ ได้แก่ 1.ต้องการคนอยู่เป็นเพื่อนในบางเวลา 2.พาไปพบแพทย์ตามนัด 3.พาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน 4.พากลับบ้านในเวลาที่ญาติไม่อยู่ 5.พาไปร่วมกิจกรรมในสังคม โดยผู้พิการสามารถเรียกใช้บริการเป็นบางเรื่อง ซึ่งจะเป็นโครงการที่เข้ามาเสริมกับ Caregiver ที่ภาครัฐเป็นผู้จ้าง จะทำให้ผู้พิการสามารถตัดสินใจเรื่องของตัวเองและดำเนินชีวิตในสังคมได้มากขึ้น โดยมี PA เป็นผู้ช่วย

 

สำหรับ Personal Assistant (PA) เป็นแนวคิดในการดูแลผู้พิการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เดิมทีเป็นการบริการแบบครบวงจรตั้งแต่ชีวิตประจำวันไปจนถึงการใช้ชีวิตภายนอก แต่ราคาจ้างในต่างประเทศค่อนข้างสูง จึงมีแนวคิดเบื้องต้นคือจ้างงาน PA สำหรับพาไปข้างนอก ขณะเดียวกัน อาจต้องมีการฝึกอบรมตำแหน่ง PA แล้วจึงขยายบริการออกไป เช่น พาไปทำงาน เป็นต้น รวมถึง ผู้พิการต้องเข้ารับการอบรมด้วย เพื่อให้ทราบขอบเขตบริการของ PA ไม่สามารถเรียกใช้ตามใจชอบได้ ทั้งนี้ การจ้างงาน PA อาจเป็นการจ้างบุคคลในครอบครัวของผู้พิการก็ได้ เนื่องจากมีการทำหน้าที่อยู่แล้ว จะช่วยลดภาระของผู้ดูแลมากขึ้น

 

"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยังอยู่ในการศึกษาหาข้อมูลและดูทิศทางความเป็นไปได้ เบื้องต้นมีภาคีเครือข่ายสนใจที่จะทำ PA แต่อาจต้องดูเรื่องข้อกฎหมายและความพร้อมต่าง ๆ ร่วมด้วย เพื่อความรอบคอบ คาดว่าในปีหน้าจะมีความชัดเจนมากขึ้น" นายภาณุมาศ กล่าว