เด็กเพื่อไทยให้คุยที่ประชุมพรรค เปิดเวทีม.152 ถกเอ็มโอยู44 ฝากถึงสนธิžคนเบื่อม็อบ ทำเศรษฐกิจย่ำแย่ สวนกลับปลุกม็อบล้มรัฐบาลจะเอาใครมาเป็นนายกฯ ขู่ ภูมิใจไทยงอแงเรื่องประชามติ ระวังเจอยุบสภาฯ สั่งสอน ด้าน 'วิปรัฐบาล'เล็งคุย'วันนอร์'เดินหน้าแก้รธน. ยอมรับปชน.-ภท.ยังเห็นต่างปมออกเสียง'ประชามติ' เร่งเคลียร์หาทางออก ขณะที่ดุสิตโพล ชี้ดัชนีการเมือง พ.ย. คะแนนตก สะท้อนประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล        

  เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.67 นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152 เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงกรณีเอ็มโอยู 2544 ไทย-กัมพูชา ว่า ถ้าทำได้ก็ได้ เป็นการใช้เวทีสภาหาทางออกเอ็มโอยู44 เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างมากมาย ควรนำไปพูดคุยในสภา ใครสงสัยอะไร รัฐบาลจะได้ชี้แจงทำความเข้าใจ เอาความจริงมาพูดกัน รัฐบาลจะได้ชี้แจงดีกว่าไปปลุกม็อบลงถนน        

 ส่วนที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยมองว่า ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา152 แก้ปัญหานั้น ถือเป็นความเห็นนายชูศักดิ์ อยากให้นายนพดลนำเรื่องเอ็มโอยู44 หารือในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ลงมติว่าควรเปิดเวทีอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา152 หรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นเวทีชี้แจงทำความเข้าใจยุติปัญหา เพราะเอ็มโอยูเป็นแค่ข้อตกลง ไม่มีผลทางกฎหมาย        

 นพ.เชิดชัย กล่าวต่อว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะลงถนนเพื่ออะไร ล้มรัฐบาลได้จะเอาใครเป็นนายกฯ ควรปล่อยให้ประเทศเดินหน้าได้ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปรากฎว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นก็ไปเจรจาเอ็มโอยู44กับกัมพูชา แต่ทำไมนายสนธิ เงียบ เชื่อว่าปัญหาเอ็มโอยู44 ไม่เป็นเงื่อนไขให้ม็อบจุดติด        

ตอนนี้คนเบื่อม็อบทะเลาะกันมานาน เศรษฐกิจแย่ ถ้ายังมาปลุกม็อบล้มรัฐบาล ใครจะมาแก้เศรษฐกิจ อยากรู้นายสนธิทำไปเพื่ออะไร ถ้ามีการรัฐประหาร ประเทศจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่          นพ.เชิดชัย ยังกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ว่า ขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญติดปัญหาเรื่องร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่สว.และพรรคภูมิใจไทยเห็นไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทยเรื่องเกณฑ์ผ่านการทำประชามติ แม้อาจจะต้องเสียเวลา 180 วัน ในการพักร่างกฎหมายประชามติ เพื่อยืนยันการใช้ร่างเกณฑ์การใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวตามเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ฉบับเดิมที่ส.ส.เสนอมา ก็ยังเชื่อว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีส.ส.ร.ยกร่าง ออกมาบังคับใช้ในทันก่อนการเลือกตั้งปี2570 ไม่ว่าจะต้องทำประชามติ 2หรือ3ครั้ง        

ระหว่างนั้นจะต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยให้เห็นไปในแนวทางเดียวกัน เรื่องนี้มีวิธีแก้อยู่แล้ว ขอให้เชื่อใจพรรคเพื่อไทย จะเจรจาทั้งบ้านเล็ก บ้านใหญ่ ต้องคุยให้จบ ถ้ายังงอแงมากก็อาจยุบสภาสั่งสอน ไปพิสูจน์ตอนเลือกตั้งกันใหม่ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตอนนั้นตั้งส.ส.ร.มาแล้ว แม้จะยุบสภา ส.ส.ร.ก็ยังทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไม่ แต่เชื่อว่าคงไม่ไปถึงขั้นนั้น น่าจะพูดคุยกันได้Ž นพ.เชิดชัย กล่าว          

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้นัดประชุมวิปรัฐบาล ในวันที่ 9 ธ.ค. นี้ เพื่อพิจารณาในวาระที่ต้องพิจารณาในการประชุมสภาฯ ช่วงที่เปิดสมัยประชุม วันที่12 ธ.ค.นี้ โดยได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ของสภาฯฯ ให้รวบรวมรายละเอียดไว้แล้ว ส่วนกรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา จำนวน 17 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 3 ฉบับตามที่รัฐบาลประสานนั้น เบื้องต้นตนจะนัดหารือกับนายวันมูหะนัดนอร์อีกครั้ง โดยจะหารือร่วมกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วย          สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พบว่ามีการแสดงความเห็นต่อเรื่องจำนวนประชามติ 2 ครั้ง ยอมรับว่าแต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันโดยพรรคประชาชนมองว่าสามารถทำประชามติจำนวน 2 ครั้งได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยมองว่าต้องทำ 3 ครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องประชุมเพื่อเจรจาหารือให้ได้ข้อสรุปร่วมกันและเพื่อให้เกิดทางออกที่ดี      

   ส่วนการทำประชามติต้องยอมรับว่ามีปัญหาในชั้นของการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต่อประเด็นที่ใช้เป็นเกณฑ์ผ่านประชามติ ที่ทำให้ต้องยับยั้งร่างแก้ไขไว้ 180 วัน ดังนั้นต้องรอเวลา เพื่อให้สภาฯ ยืนยันในเกณฑ์ของการออกเสียงประชามติที่ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว         "การแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ใหญ่หรือแก้รายมาตรา หากแนวทางใดที่ทำได้ก่อน จะทำไป ซึ่งการแก้ไขทั้งฉบับพรรคเพื่อไทยต้องการให้แก้ไข ตามที่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้ แต่ปัจจุบันพบข้อติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะกุญแจดอกสำคัญคือ ประชามติ ที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาทั้งในส่วนของ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ไม่เห็นด้วย และพรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ผมเข้าใจว่าเป็นธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีความเห็นต่างกัน" นายวิสุทธิ์ กล่าว      

   เมื่อถามว่าในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเห็นความสำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญในชั้นไหน ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำเต็มที่แต่ติดเรื่องประชามติ ดังนั้นเมื่อพยายามเต็มที่แล้วแต่ไม่ทัน ประชาชนที่ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาทราบดีว่าติดขัดตรงไหน ไม่ราบรื่นอย่างไร ดังนั้นหากพยายามเต็มที่แล้วไม่ทันไม่เป็นไร โดยตนยืนยันว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้ดึงเกมใดๆทั้งสิ้น แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงถือเป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย        

 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า กมธ.ได้นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 4 ธ.ค. เพื่อพิจารณารายงานของกมธ.ครั้งสุดท้ายและพิจารณามติของที่ประชุม อย่างไรก็ดียอมรับว่ามีกมธ.บางคนอยากให้ระบุในรายงานถึงความเห็นต่างของกมธ.ในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง ดังนั้นที่ประชุมต้องพิจารณาว่าจะระบุไว้ในรายงานได้หรือไม่          เมื่อถามว่า ทั้งสส.และสว.ต่างยังยืนยันจุดยืนของตัวเอง มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตอนแรกไม่มั่นใจ แต่ขณะนี้มีความพยายามกระตุ้นว่าสามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอร่างพ.ร.บ.ประชามติที่ากจะผ่านในเวลาอันสั้น ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าสามารถทำประชามติ 2 ครั้งเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้        "เป็นความพยายามเบื้องต้นในการเดินหน้ารัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อคกติกาบางอย่าง หรือเงื่อนไขบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ผมต้องการเห็นความจริงใจและความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากประชาชน แม้จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ก็คงต้องพยายามให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ได้ปักหมุดไว้ว่าหากมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เกิดจาก ส.ส.ร. ในปี 70 จะสวยงามที่สุด และยังคาดหวังว่าจะผ่านในปี 70 อยู่ แต่จะทันหรือไม่ทันสภาฯ ชุดนี้ ผมไม่ทราบ แต่ขอเอาเป็นหมุดหมายว่าให้ทันในปี 70 ไว้ก่อน นายณัฐวุฒิ กล่าว        

 ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ประเมินว่าจะเห็น ส.ส.ร. ได้ทันปี 2568 หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูง หากไม่มีกลไกอื่นหรือมีอุบัติเหตุทางการเมือง จนทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เดินหน้าไม่ได้ เมื่อถามถึงกรณี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 17 ฉบับเข้ารัฐสภา เดือนธ.ค. นี้ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขอขอบคุณที่นายวันมูหะมัดนอร์ที่มีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ อยากให้มีการประชุมในเดือนธ.ค.นี้ แต่ต้องขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาประสานเพื่อนัดประชุมวิป3ฝ่าย เพื่อหารือว่าจะประชุมร่วมรัฐสภาในวันไหน จะใช้กรอบเวลาเท่าไหร่ จะมีกระบวนการพิจารณาหรือลงมติอย่างไร        

 วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,078 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 เฉลี่ย 4.92 คะแนน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2567 ที่ได้ 5.01 คะแนน          ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เฉลี่ย 5.39 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.39 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 50.66 รองลงมาคือ อนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 28.96 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 43.80 รองลงมา คือ ศิริกัญญา ตันสกุล ร้อยละ 31.72 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ร้อยละ 37.50 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 48.51        

 น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ดัชนีการเมืองไทยเดือนพฤศจิกายนลดลงต่ำกว่า 5 คะแนนอีกครั้ง สะท้อนความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล แม้การแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 จะเสริมคะแนนนิยมได้บ้าง แต่กลับไม่เพียงพอที่จะยกระดับคะแนนตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อคะแนนผลงานนายกฯ ลดลง จึงสะท้อนถึงความไม่แน่นอนต่อความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ ความท้าทายเหล่านี้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงรัฐบาลว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้มากกว่าการเยียวยาชั่วคราว        

  รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า ผลงานของรัฐบาลที่เด่นชัดและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนทั่วไป เป็นเรื่องการเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟสสองให้ประชาชนอีก 4 ล้านคน เป็นไปตามสัญญาของรัฐบาลที่ให้ไว้ และความสามารถของนายกรัฐมนตรีในการจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือส่งผลต่อความพึงพอใจแก่สังคมส่วนรวม แต่เมื่อพิจารณาด้านความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า ยังไม่มีผลงานเด่นชัด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาคนว่างงานยังไม่ชัดเจน และการกำหนดแนวทางการเผชิญหน้ากับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีมาตรการใดออกมารองรับ ส่วนฝ่ายค้าน บทบาทในการตรวจสอบเรื่อง MOU 44 ปัญหาอ้างสิทธิทับซ้อนเป็นผลงานโดดเด่น ถ้าฝ่ายค้านสามารถเป็นผู้นำในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเป็นระบบ (ไม่นำมวลชนลงถนน) เชื่อว่าประชาชนอยากให้ฝ่ายค้านค้นหาข้อเท็จจริงและนำมาเปิดเผยต่อสังคมอย่างรวดเร็ว