"นายกฯ" จัดคิวเดินทางล่องใต้ 6 ธ.ค. ให้กำลังใจ เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม มท.1เชื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เตรียมสำรวจความเสียหาย ก่อนของบกลางช่วย ด้านสทนช. เตือนเตรียมรับมือพายุลูกใหม่ถล่มใต้ระลอก 2
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า จากการพยากรณ์อากาศมีความชัดเจนว่าปริมาณน้ำฝนน่าจะเริ่มลดลง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลาย เพราะอุทกภัยภาคใต้นั้นแตกต่างจากภาคเหนือ เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนมากเพียงอย่างเดียว หากผลักดันน้ำลงสู่ทะเลได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้าจากผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ขณะที่การประเมินความเสียหาย ทั้งบ้านเรือนประชาชน และระบบสาธารณูปโภค ต้องรอให้น้ำลดลงก่อนถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน เพราะช่วงที่วิกฤตที่สุดก็คือ หลังน้ำลด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการกำชับอะไรหรือไม่หลังจากมีอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกไฟดูดขณะเกิดเหตุน้ำท่วม นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการกำชับกับการไฟฟ้า ให้ดูแลพื้นที่ในส่วนที่น้ำเข้าท่วม ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวัง การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน และทางจังหวัดได้มีการจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีการอพยพประชาชนเข้ามาพักพิง ตนได้กำชับให้ดูแลชาวบ้านอย่างมีมาตรฐาน ทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่นอนหมอนมุ้ง ตลอดจนสุขอนามัยสะอาดได้มาตรฐานไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อ พร้อมทั้งมีการอนุมัติเงินใช้ทดลองฉุกเฉินเพิ่มอีก 50 ล้านบาท จากเดิม 20 ล้านบาท ในจังหวัดเสี่ยงภัย รวมเป็นจังหวัดละ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสม เชื่อว่า สามารถดูแลประชาชนได้
สำหรับเงินเยียวยานั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)อยู่ระหว่างประสานกับจังหวัดที่ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัดอยู่แล้ว จะทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อการสำรวจความเสียหายหากเข้าเกณฑ์ ก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วจะมีการโอนเงินเข้าสู่บัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง แบบเดียวกับการเยียวยาอุทกภัยที่ภาคเหนือ พยายามจะเร่งเสนองบประมาณเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(คาม.)ให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการใช้งบกลางของนายกรัฐมนตรี จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อมูลก่อน
ส่วนหลักเกณฑ์เยียวยา เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่อุทกภัยในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการว่าความเดือดร้อนขนาดนี้ไม่ประเมินความเสียหายควรใช้เกณฑ์สูงสุด ครัวเรือนละ 9,000 บาท เนื่องจากน้ำมากกว่าปกติถึง 2 เท่า และไม่ได้มาตามฤดูกาล ซึ่งน่าจะต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ไปจนถึงสิ้นปี ก่อนที่ปีหน้าจะต้องสู้กับปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 และปัญหาภัยแล้งอีก
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟู อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ศปช.สรุปสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ตามโมเดลของเชียงใหม่เชียงรายที่เคยประสบอุทกภัยมาเมื่อสองเดือนก่อน โดยให้สรุปข้อมูลอย่างน้อย 2 ช่วง เช้าและบ่าย เพื่อจะได้ให้ส่วนราชการต่างๆสนับสนุนในจุดที่ยังต้องเข้าแก้ไขเพิ่มเติม
จากกรณีในโลกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ลงพื้นที่ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมชายแดนภาคใต้ แต่กลับเดินกับครอบครัวอยู่ที่เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร ล่าสุด มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเตรียมลงพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ.สงขลาและจ.ปัตตานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจติดตามสถานการณ์น้ำ และเร่งรัดการเยียวยา และฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งในวันที่ 2 ธ.ค.จะมีการประชุม ศปช.เพื่อวางกำหนดการ และจุดที่จะลงไปติดตามตรวจเยี่ยม โดยวางไว้เบื้องต้นว่านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ในวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค.นี้
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ว่า ต้องเตรียมรับมือระลอก 2 ในกลางเดือนนี้ เนื่องจากจะมีพายุเข้าอีก 1 ลูก ประกอบกับลานีญา โดยขณะนี้สั่งการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ใต้ เขื่อนบางลางต้องมีการระบายน้ำออกบ้าง แต่ไม่ให้สูงเกินพื้นที่ท้ายเขื่อนเกินกว่า 2 เมตร เนื่องจากก่อนหน้านี้สูง 2 เมตรกว่า แต่หากไม่ระบายเลยก็ไม่ได้ และในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ เนื่องจากเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า เวลานี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการออกจากพื้นที่และยังไม่ต้องรีบกลับเข้ามา ขออย่าห่วงที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลเป็นอย่างดี ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยก่อน เนื่องจากมีการจัดเตรียมสถานที่พักพิงไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประชาชนต้องเข้าใจรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะเดือนนี้ยังมีโอกาสที่น้ำจะท่วมอยู่อีก แต่คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์สถานการณ์จะเบาลงไป หากสถานการณ์คลี่คลายเจ้าหน้าที่จะมีการแจ้งให้ประชาชนกลับเข้าสู่บ้านเรือนอีกครั้ง
"จริงๆ แล้ว สทนช. ได้มี 10 มาตรการในการรับมือ และนายประเสริฐได้สั่งการให้ไปเปิดศูนย์ส่วนหน้า ที่จังหวัดยะลา เพื่อบริหารจัดการทั้งพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการสื่อสารและประชุมเตรียมล่วงหน้าไว้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าฝนหนักและเยอะจริงๆ เยอะกว่าปีที่แล้ว ที่ถล่มที่นราธิวาส และฝนในปีนี้ไม่ใช่กระทบเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไล่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป คณะกรรมการลุ่มน้ำจึงต้องบูรณาการร่วมกัน"
ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 78 อำเภอ 508 ตำบล 3,387 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 617,386 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 12 ราย เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปภ.ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันละบรรเทาสาธารณภัย KA 32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วย The Guardian Team เข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย โดยมีการจัดตั้งศูนย์พักพิง/จุดอพยพในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 213 แห่ง และโรงครัว/รถประกอบอาหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย 18 แห่ง นอกจากนี้ ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ข่าวสารสาธารณภัย ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X@DDPMNews ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน "Thai Disaster Alert" ทั้งระบบ IOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์"ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง