“วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” หรือที่หลายคนรวมถึงบิ๊กบอสของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เรียกว่า “โลกเดือด” ไปแล้ว ต้องถือเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง
ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต คือ ปลิดชีพมนุษย์เรา ตามการประเมินของหน่วยงานด้านการเฝ้าระวังภัยภาวะโลกร้อนในสหรัฐฯ แห่งหนึ่ง ระบุว่า แต่ละปีก็มีผู้ถูกภาวะโลกร้อน คร่าชีวิตไปเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 คน หากว่ากันเป็นตัวเลขกลมๆ และมีแนวโน้มว่า ตัวเลขจะทะยานพุ่งสูงถึงในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หรืออีก 6 ปีข้างหน้าเป็น 700,000 คนด้วยกัน จากการที่ภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นประการต่างๆ รวมถึงทำให้พลเมืองโลกเราต้องประสบกับความหิวโหยอดอยากจนต้องเสียชีวิตไปนั่นเอง
นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน ก็ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์อพยพย้ายถิ่นฐานของประชาคมพลเมืองโลกในภูมิภาคต่างๆ ตามมา เพื่อหนีภัยจากภาวะโลกร้อน ที่กำลังคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา
ตามการเปิดเผยในรายงานฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า “โกลบอล รีพอร์ต ออน อินเทอร์นัล ดิสเพลซเมนต์” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “กริด (GRID : Global Report on Internal Displacement)” ได้ระบุในรายงาน “กริด” ฉบับประจำปีล่าสุด คือ 2024 (พ.ศ. 2567) ว่า ผลพวงจากวิกฤติภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การอพยพของประชาคมพลเมืองโลกในภูมิภาคต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ. 2551) จนถึงปี 2023 (พ.ศ. 2566) หรือตลอดช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา รวมแล้วก็มีจำนวนมากกว่า 359 ล้านคน
ตัวเลขข้างต้น ก็มากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกา ทั้งประเทศเสียอีก โดยสหรัฐฯ มีประชากรอยู่ที่ 334 ล้านคน เท่านั้น
พร้อมกันนี้ ทางคณะผู้จัดทำรายงาน “กริด” ก็ยังระบุด้วยว่า ตัวเลข 359 ล้านคน เป็นจำนวนที่มีการสำรวจติดตาม ซึ่งในสภาพความเป็นจริง ก็ประเมินว่า น่าจะมีมากกว่าที่ได้รายงานไป เพราะคาดว่า ยังมี “ผู้อพยพ” ที่ “ตกสำรวจ” อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีหลายพื้นที่ของโลกเรา มีความยากที่จะเดินทางเข้าถึง
รายงานกริด ประจำปีนี้ ยังระบุถึงสถานการณ์ผู้อพยพจากการได้รับผลกระทบของภาวะโลกร้อน เฉพาะในช่วงรอบปีที่ผ่านมา คือ 2023 (พ.ศ. 2566) โดยเปิดเผยว่า ทั่วโลกมีจำนวนมากถึง 6.6 ล้านคนด้วยกัน ที่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องเดิมของตน จากภัยธรรมชาติอันมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมสูงฉับพลัน ดินโคลนถล่ม เพราะฝนตกหนักต่อเนื่อง การเกิดไฟป่า การเกิดวาตภัย และภัยแล้งอย่างรุนแรง เป็นต้น
โดยกลุ่มคนที่อพยพเหล่านี้ จำนวนไม่น้อย ที่ต้องอพยพหลายครั้งในช่วงรอบปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ถ้านับรวมถึงกลุ่มที่อพยพแบบชั่วคราว เพื่อหนีภัยธรรมชาติอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ในปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 20.3 ล้านคน
ในรายงานกริด ยังจำแนกแยกย่อยถึงกลุ่มอพยพหนีภัยธรรมชาติ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนโดยตรงเอาไว้ด้วย เช่น ภัยธรรมชาติที่เกิดจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุระเบิด เป็นต้น โดยระบุว่า มีจำนวนอย่างน้อย 1.1 ล้านคนทั่วโลกในช่วงรอบปีที่แล้ว
พร้อมกันนั้น รายงานกริด ก็แยกจำแนกปรากฏการณ์อพยพของผู้คนจากภัยธรรมชาติอันสืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนในแต่ละภูมิภาค หรือประเทศ ที่เผชิญกับภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนครั้งใหญ่ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ “จีน” ตามรายงานกริดระบุว่า มีจำนวนมากถึง 4.6 ล้านคน
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ทำให้จีนต้องอพยพผู้คนครั้งใหญ่ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ก็คือ การเผชิญหน้ากับมหาวาตภัย “พายุไต้ฝุ่นทกซูรี” เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นั่นเอง ซึ่งอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นลูกดังกล่าว นอกจากพัดกระหน่ำจนสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน และดินโคลนถล่มตามมาในหลายพื้นที่
พิษภัยของพายุไต้ฝุ่นลูกนี้ ก็ยังทำให้ “ฟิลิปปินส์” เสียหายอย่างหนักด้วยเช่นกัน จนทำให้ประชาชนชาวตากาล็อก ต้องอพยพหนีมหาวาตภัยข้างต้นมากถึง 2.1 ล้านคน จนกล่าวได้ว่า ฟิลิปปินส์ มีผู้อพยพมากเป็นอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ จากผลพวงของพายุไต้ฝุ่นลูกดังกล่าว
ส่วนที่ทวีปแอฟริกา ประเทศที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ก็คือ “โซมาเลีย” โดยหลังจากเผชิญกับวิกฤติมหาอุทกภัย น้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ ก็ทำให้ประชาชนชาวโซมาเลีย ต้องอพยพหนีภัยมากถึง 2 ล้านคนด้วยกัน
รายงานกริด ได้จำแนกในแต่ละภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน ที่บังคับให้ประชาชนพลเมือง ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ได้แก่
อุทกภัย หรือน้ำท่วม และวาตภัย ภัยจากพายุพัดถล่ม โดยทั้งภัยธรรมชาติทั้งสองชนิดนี้ ถูกจัดให้เป็นกลุ่มภัยธรรมชาติอันสืบเนื่องจากผลพวงของภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ประชาชนต้องอพยพในแบบถาวรและชั่วคราวมากที่สุด ระดับเบอร์ต้นๆ
โดยน้ำท่วม ทำให้ต้องอพยพมากถึง 9.8 ล้านคน ส่วนผู้อพยพจากหนีภัยจากพายุ มีจำนวน 9.5 ล้านคน
ตามมาด้วย ภัยแล้ง มีจำนวน 491,000 คน และหนีภัยจากไฟป่าจำนวน 435,000 คน
ส่วนการอพยพหนีภัยธรรมชาติจากโลกร้อนอื่นๆ ก็มี “ดินโคลนถล่ม” จำนวน 119,000 คน พื้นที่ที่อาศัยเดิมที่อาศัยตามริมฝั่งลำน้ำต่างๆ ตลอดจนชายทะเล ซึ่งผจญกับริมฝั่ง หรือชายฝั่งถูกเซาะกร่อน มีจำนวน 7,000 คน และการย้ายถิ่นฐานเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แปรปรวนไปอย่างสุดขั้วมีจำนวน 4,700 คน
จากรายงานกริดที่ปรากฏ ก็ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนะนำให้ทางการประเทศต่างๆ มีมาตรการสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่บรรดาผู้อพยพหนีภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนกันด้วย นอกจากเหนือความพยายามบรรเทาปัญหาของภาวะโลกร้อน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ขึ้น ซึ่งนับวันก็มีแนวโน้มว่า ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านมา จนน่าเป็นห่วง