ดร.สุพิศ  ปราณีตพลกรัง

เจ้าพนักงานตำรวจนั้น มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บทบาทอำนาจหน้าที่จึงมีทั้งการป้องกันและปราบปราม การติดตามจับผู้กระทำความผิดนำมาลงโทษ การตั้งด่านต่าง ๆ บนเส้นทางสัญจรก็เป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุภารกิจของเจ้าพนักงาตำรวจ ในอดีตนั้นอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ในปัจจุบันด่านตรวจก็มีความจำเป็นมากขึ้นก็จะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาการก่ออาชญากรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการจราจร ยาเสพติด ตลอดจนการป้องกันเกี่ยวกับโจรผู้ร้าย

เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยี และประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายต่าง ๆ ในกรณีของเจ้าพนักงานตำรวจจึงเกิดปรากฏการณ์ คือการที่อาจจะมีบุคคลไปสำรวจตรวจสอบหรือทำการถ่ายภาพบริเวณด่านตรวจและสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในกรณีที่กระทำโดยสุจริตใจหรือต้องการทำสื่อออกแสดง ซึ่งเรียกว่าทำคอนเทนต์ อาจจะมีการรุกไล่ ใช้คำถามในลักษณะตรวจสอบ ไม่สุภาพ หมิ่นเหม่ต่อการยั่วเย้า ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจก็อาจจะเกิดความรู้สึกว่าถูกขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่หรืออาจจะไม่พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบหรือตอบคำถามที่ประดังเข้ามา สภาพการณ์ดังกล่าวจึงค่อนข้างสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาทบาดหมางกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง จนอาจจะทำให้เกิดความกริ่งเกรงไปได้ว่าในอนาคตอาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือเจ้าพนักงานตำรวจบางคนที่ไม่อาจยับยั้งชั่งใจได้ไม่อดทนต่อการรุกไล่และยั่วอารมณ์จากประชาชนผู้ไม่สุจริตใจ ต้องการก่อนกวน อาจจะเกิดโทสะและมีการใช้อาวุธหรือแกล้งจับกุมคุมขังกันได้

ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวมักจะพบเห็นกันบ่อยครั้งในโลกของโซเชียลมีเดีย และมีการกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทั้งประชาชนผู้ถูกกลั่นแกล้งจากการกระทำไม่ชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแต่การใช้ถ้อยคำวาจา การข่มขู่ และในส่วนของเจ้าพนักงานตำรวจที่ดีก็น่าเห็นใจที่จะต้องทนรับสภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

หากพิจารณาในแง่ของระดับนโยบาย ก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ไขหรือป้องกันปัญหาดังกล่าว คงมีเพียงการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับการตั้งด่าน และการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างตั้งด่านให้ถือปฏิบัติเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติที่แท้จริงก็ยังมีเงื่อนไขที่ประชาชนเห็นเป็นช่องว่างอ้างเป็นช่องโหว่ในการตำหนิติเตียน เช่น การไม่มีผู้ควบคุมด่าน การไม่ติดกล้องประจำตัว การทะเลาะโต้เถียงกับประชาชนผู้ถูกตรวจ ตลอดจนความไม่แน่นอนชัดเจนในเรื่องของเหตุสงสัยในการตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะในที่สาธารณะ นอกจากนี้แล้วในระดับผู้บังคับบัญชาผู้ใกล้ชิดกับเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตั้งด่าน ก็อาจจะไม่มีการลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือมีการกำชับอย่างใกล้ชิด กลายเป็นปัญหาหน้าด่าน หรือปัญหาในพื้นที่ที่ไปปฏิบัติหน้าที่

 เรื่องของการตั้งด่านและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจ ให้ความสำคัญแลมีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจจะเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน อาจจะเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันในทุกแง่มุม อย่างน้อยที่สุดก็คงต้องปรับเปลี่ยนคำถามที่มีการใช้สื่อสารกับประชาชนที่มักจะเริ่มด้วยคำถามว่า “จะไปไหน” ในด้านผู้ถูกถามก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า แม้กับภรรยาที่บ้านก็ยังไม่บอกว่าจะไปไหน แล้วจะต้องมาตอบคำถามดังกล่าวกับตำรวจด้วยหรือว่าจะไปไหน