สายลมรัฐประหารและยุบสภาฯผ่านไปเพียงแผ่วผิว หลังศาลรัฐธรรมนูญตีตกคดีล้มล้างการปกครอง ของ “ลุงโทนี่”ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ต่อด้วยฉากแห่งชัยชนะในศึกเลือกตั้งนายกอบจ. ที่สามารถรักษา “หัวเมืองอุดรธานี” เอาไว้ได้

เดือนพฤศจิกายน ที่บรรดานักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่าจะเป็น “จุดพีค” ปิดฉากประมุขแห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า และพรรคเพื่อไทย หวังให้กลายเป็น “โดมิโน”ไปสู่การรูดม่านรัฐบาลแพทองธาร ต้องมีอันสะดุดหยุดลง

เพียงไม่นาน เหตุการณ์กลับตาลปัตร ตั้งแต่เริ่มเห็น “สัญญาณ” ที่ “ทักษิณ” ที่โลว์โปรไฟล์อยู่นานนับเดือนหลังมรสุมนิติสงครามรุมเร้า กลับผงาดออกมาเปิดหน้าเล่น นำทัพเพื่อไทยรบกับ พรรคประชาชนชิงธงในสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังไปให้สัมภาษณ์กับสื่อเทศ ถึงกำหนดการกลับไทยของน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงก่อนสงกรานต์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

ท่ามกลางบริบทปลดล็อกข้าราชการระดับอธิบดีให้เดินหน้า ฝ่ากระแสรัฐบาล “เป็ดง่อย” ที่ก่อนหน้านี้มีทิศทางว่าจะปล่อย “เกียร์ว่าง” และ “กระด้างกระเดื่อง” จนมีรายงานว่า “นายกฯอิงค์”แพทองธาร ชินวัตร ต้องถือไม้เรียวหวดกลางที่ประชุมครม.

โดยที่ก่อนหน้านี้  “นายกฯอิงค์”พยายามส่งสัญญาณว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม!

ขณะที่จังหวะนรก มหากาพย์คดีดิไอคอน ที่ลากเอาคนที่เคยอยู่ในขั้วตรงข้ามกับ “ทักษิณ” โดยเฉพาะ สามารถ เจนชัยจิตวนิช อดีตกระบอกเสียงใกล้ชิด ลุงบ้านป่า รวมทั้งวิบากกรรมทนายคนดัง ก็แทบจะกลบกระแสชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจไปเสียสนิท

สถานการณ์การเมืองยามนี้จึงเปรียบเหมือน “กระดานหก” ที่ฝ่ายของ “ทักษิณ”อยู่ในฝั่งขาขึ้น!!

แต่จะกุมสภาพความได้เปรียบทางการเมืองไปได้มากน้อยแค่ไหนและนานเท่าไหร่ ยังไม่มีใครตอบได้ ด้วยเมื่อพิจารณาจาก “อุดรฯโมเดล” กับเป้าหมาย 200 สส.ในการเลือกตั้งสส.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยิ่งต้องลุ้นกันเหนื่อย

ด้วยขนาดระดับรุ่นใหญ่เฮฟวี่เวทอย่าง “ทักษิณ”ขึ้นเวทีหาเสียงที่อุดรธานีเอง ยังชนะไม่เยอะ ทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคประชาชนเพียง 5หมื่นคะแนน ทำให้ไม่สามารถประมาทพรรคประชาชนได้

อีกทั้งเมื่อนำคะแนนเสียงที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้รับในการเลือกตั้งรอบนี้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้  327,487 คะแนน  ในขณะที่ในการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี เมื่อปี 2563 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้คะแนน 325,933 คะแนน  ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีคะแนนเพิ่มขึ้นมาเพียง 1,554 คะแนน

และหากมีการเลือกตั้งสส. การต่อสู้ก็จะยิ่งเหนื่อยมากขึ้น ด้วยต้องมีผู้สมัครสส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแชน์ส่วนแบ่ง หรือตัดคะแนนกัน  ไม่ได้สู้กันแบบตัวต่อตัวเหมือนการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อลงสนามเลือกตั้งสส. ต่างคนก็ต้องต่างสู้กันเต็มที่ เว้นเสียแต่จะมี “ดีลลับ” หรือ “สัญญาใจ” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เพื่อคว่ำ “ส้ม”

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยนั้นเปรียบเหมือน “ลิ้นกับฟัน” มีการกระทบกระทั่งและประลองกำลังงัดข้อกันอยู่เนืองๆ  แม้ล่าสุดปมที่ดินเขสากระโดง จะทำให้สมดุลอำนาจระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

กระนั้น บริบทการเมืองยามนี้จึงเป็นเพียงการประคับประคอง รัฐบาลแพทองธาร ปราบศึกนอกสยบศึกใน ที่ทำให้มองเห็นความเป็นไปไดว่า จะพารัฐนาวาฝ่า “พฤศจิกาอาถรรพ์”ไปได้ อย่างน้อยๆ ก็ข้ามปี!!

ที่เมื่อนับถอยหลังไปอีกเดือนเศษๆ ของเดือนสุดท้ายของปี ก็ยังต้องช่วยกันไล่ดับชนวนระเบิดรัฐบาลแพทองธาร

โดยยังมีอีกหลายด่านหิน ที่ต้องฝ่าไปให้ได้ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็น นิติสงครม เรื่องร้องเรียนต่างๆ ทั้งคดีของ “ทักษิณ”และพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในกกต.ฐานครอบงำพรรคการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคเดิม คดีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจที่อยู่ในป.ป.ช.

และคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีส่วนตัวของ “ทักษิณ”  ที่นักวิเคราะห์การเมืองต่างมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เหตุที่ “ทักษิณ”ยอมกลืนน้ำลายที่เคยลั่นวาจากลับมาเลี้ยงหลาน แบกสังขารขึ้นเวทีปราศรัยที่อุดรธานี ก็เพียงเพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ ที่แตกต่างจากพรรคประชาชน

แม้ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองจะอ่านรู้ดูออก ในสัจธรรมการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ขนาดประชาชนทั่วไปโดยเสียงส่วนใหญ่จากผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ยังเชื่อว่าวิวาทะระหว่างพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเพียง ละครฉากหนึ่ง!!

กระนั้น ก็ยังมีประเด็นท้าทายที่พรรคประชาชนวางไทมืไลน์เอาไว้ ในคิวตรวจสอบรัฐบาลแพทองธารผ่านอภิปรายทั่วไป และอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ต้องถูกจับตาดูว่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน หรือยัง “ยั้งดาบไว้ไมตรี” กันอีกหรือไม่

ขณะที่การกลับมาของ “ศัตรูเก่า” อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล ที่จะเขย่าปม MOU44 ออกมานำมวลชนบุกทำเนียบฯในห้วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ที่คาดว่าจะเป็น “แมทซ์อุ่นเครื่อง”  หลังจากที่จัดเวทีทอล์กที่ธรรมศาสตร์ผ่านไป บ่มให้สถานการณ์การเมืองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ที่ “ม็อบเสื้อเหลือง” หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ก็เริ่มต้นจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์

ส่วนจะขยายผลและลุกลามบานปลายกลายเป็นมวลชนลงถนน และเป็นบันไดให้ “รัฐประหาร” ซ้ำรอยรัฐบาลทักษิณหรือไม่ เป็นอะไรที่ต้องติดตามลุ้นกันข้ามปีด้วยใจระทึก