เมื่อวันที่ 29 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า ผู้ป่วยชายอายุ 86 ปี เมื่อ 14 ปีก่อนตอนนั้นแข็งแรงดี ไม่มีอาการ ตรวจเลือดประจำปี พบค่าสารที่ถูกสร้างและหลั่งมาจากต่อมลูกหมาก PSA สูง 21 (ค่าปกติ 4) เจาะเนื้อจากต่อมลูกหมาก ส่งตรวจพยาธิวิทยาพบเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก Gleason score 3+3 คะแนน 6 บ่งชี้ว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเกรดต่ำไม่รุนแรง ไม่พบการกระจายออกนอกต่อมลูกหมาก ได้รับการฉายรังสีจากภายนอกและฝังแร่ Iridium แบบชั่วคราว

ผู้ป่วยสบายดีมาตลอด จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อน เริ่มกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องนุ่งผ้าอ้อม ต่อมาปัสสาวะเป็นเลือดเมื่อ 3 ปีก่อน ส่องกล้องพบเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจพยาธิวิทยาพบเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดไม่รุนแรง low grade papillary urothelial carcinoma ช่วง 1 เดือนนี้ผู้ป่วยปัสสาวะเป็นเลือดออกเป็นลิ่มๆ เสียเลือดมาก ต้องให้เลือดมากกว่า 10 ถุง ส่องกล้องเข้าไปดูในกระเพาะปัสสาวะ พบเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เลือดไม่ได้ออกจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการสูดดมออกซิเจน 100% ภายใต้สภาพความกดบรรยากาศสูงที่มากกว่า 1 บรรยากาศออกซิเจน Hyperbaric oxygen therapy ในเครื่องปรับบรรยากาศ (hyperbaric chamber) เพื่อทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกจากแผลในกระเพาะปัสสาวะน้อยลง ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สร้างหลอดเลือดใหม่ในบริเวณเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะที่ขาดออกซิเจนและขาดเลือด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการให้รังสีรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อ 14 ปีก่อน

ผู้ป่วยรายนี้ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายแสงและฝังแร่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว นอกจากทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ยังทำให้เลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบต่อเนื่องไม่หยุด

ทางเลือกของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากชนิดไม่รุนแรง Gleason score 6 เกรดต่ำ (เน้นชนิดนี้เท่านั้น) อย่างผู้ป่วยรายนี้ในปัจจุบัน คือการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แทนที่จะรีบผ่าตัดหรือฉายแสง ลดการเกิดผลข้างเคียง ทำให้คุณภาพของชีวิตคนที่ไม่ได้รับการฉายแสงหรือผ่าตัด ดีกว่าคนที่ได้รับการรักษาโดยที่อายุขัยเฉลี่ยไม่ต่างกันมากนัก คนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดไม่รุนแรง Gleason score 6 ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากโรคอื่น ไม่ได้ตายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

 

ขอบคุณ เพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC