หน่วยงานภาครัฐที่น่าจับตามองถึงความตั้งใจในการขยายขีดความสามารถในการให้บริการ ระดับสากล เพิ่มช่องทางในการทำการธุรกิจระหว่างประเทศ “ไปรษณีย์ไทย” คือ หน่วยงานที่กำลังดำเนิการอยู่ในเวลานี้
ล่าสุด “ไปรษณีย์ไทย” ได้ขยายความร่วมมือไปยัง “ไปรษณีย์เวียดนาม” พัฒนาบริการภายใต้กรอบความร่วมมือการไปรษณีย์อาเซียน (ASEANPOST) ยกระดับอีคอมเมิร์ซของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เล่าว่า ได้เตรียมนำสินค้าเมดอินไทยแลนด์ - เวียดนาม จัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม RAPA shop และจัดส่งถึงผู้สั่งซื้อผ่าน 3 เส้นทางที่สำคัญ ได้แก่ ทางอากาศ ทางภาคพื้น และทางราง
ทั้งนี้เนื่องจากเวียดนามเป็น 1 ใน 10 ตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก ปณท จึงเห็นความสำคัญที่จะขยายโอกาสสำหรับภาคธุรกิจผู้ประกอบการไทย ภาคการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งตอกย้ำเป้าหมายของ ปณท ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อความยั่งยืนและเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือแห่งอาเซียน (Trusted Sustainable ASEAN Brand) จึงมีแผนที่จะใช้ความโดดเด่นจากโครงข่ายทั้งที่เป็น Physical และ Digital เชื่อมภาคเศรษฐกิจไทย – เวียดนาม และการสร้างประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอื่นๆ รอบด้าน เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับการไปรษณีย์ของทั้ง 2 ประเทศ
ส่วนรายได้ของไปรษณีย์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) สร้างรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 15,814.96 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 41.92% จาก 22.02 ล้านบาทในปีก่อน มาอยู่ที่ 31.25 ล้านบาท นับเป็นสัญญาณบวกจากการปรับกลยุทธ์และเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ
โดยรายได้หลักของไปรษณีย์ไทยปีนี้มาจาก 6 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ สร้างรายได้สูงสุดถึง 46.48% หรือ 7,369.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.34% จากปีก่อน 2.กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ มีสัดส่วนรายได้ 34.54% หรือ 5,477.55 ล้านบาท ซึ่งยังคงสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ 3.กลุ่มบริการระหว่างประเทศ มีรายได้ 12.14% หรือ 1,924.48 ล้านบาท 4.กลุ่มค้าปลีกและบริการทางการเงิน สร้างรายได้ 4.48% หรือ 767.6 ล้านบาท 5.กลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีรายได้ 0.85% หรือ 135.47 ล้านบาท และ 6.รายได้อื่นๆ อยู่ที่ 1.15% หรือ 184.27 ล้านบาท
ขณะที่การเติบโตของบริการพัสดุในประเทศยังคงเป็นจุดแข็ง โดยเติบโตขึ้นถึง 18.45% อยู่ที่ 1,400 ล้านชิ้น ขณะที่บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ขยายตัว 8.07% ความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผลสำรวจปี 2567 แสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจสูงถึง 91.87%
“ดร.ดนันท์” กล่าวว่า สำหรับปี 2568 ไปรษณีย์ไทยพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไปรษณีย์และโลจิสติกส์ ด้วยการผสานเครือข่าย Physical และ Digital อย่างลงตัว ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้านสำคัญ ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขยายธุรกิจดิจิทัล และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างยั่งยืน
1.เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง โดยขยายขอบเขตบริการระหว่างประเทศด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ เช่น พัฒนาระบบคลังสินค้าครบวงจร บริการ document warehouse พัฒนาการขนส่งสินค้าเข้าสู่คลัง Amazon FBA และ พัฒนาการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจออนไลน์ ซึ่งความพยายามเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างจุดเด่นใหม่ให้ไปรษณีย์ไทยในตลาดโลก
2.ปรับธุรกิจบริการดิจิทัล เช่น Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร รองรับเอกสารจากหน่วยงานและประชาชน ด้วยความปลอดภัยระดับสูง D/ID ระบบ QR CODE เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ช่วยให้การจัดส่งแม่นยำแม้ในอาคารสูง Postman Cloud ใช้ศักยภาพของบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนในการให้บริการเก็บข้อมูลและจัดส่งแบบ Point to Point และพัฒนา e-marketplace และเปิดตัว Virtual Bank ให้บริการธุรกรรมการเงินแบบครบวงจร
3.ออกแบบบริการเฉพาะกลุ่ม เพื่อบริการที่ตอบโจทย์ เช่น e-AR (ไปรษณีย์ตอบรับอิเล็กทรอนิกส์) เพิ่มความสะดวกในงานเอกสาร Pick up Service สำหรับผู้ค้า e-marketplace และการขยายจุด Drop Off ร่วมกับพันธมิตร เพื่อลดขั้นตอนการส่งสินค้า
4.เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สร้างความผูกพันกับลูกค้าผ่านระบบบริหารความสัมพันธ์ และเปิดตัว POST Café สถานที่ที่ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ แต่เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ โดยตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มเติม ผลประกอบการเบื้องต้นจากการทดลองใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 400,000 บาทต่อเดือนต่อสาขา
อนาคตเชื่อว่าการทำธุรกรรมในประเทศ และต่างประเทศ จะเพิ่มขีดความสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้
จะมาพร้อมกับความสะดวกสบาย และรายได้!!