“ปัตตานี” หนักสุด “พ่อเมือง” ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย 12 อำเภอ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย พร้อมปักธงแดง เตือนประชาชน ส่วน “สงขลา” อ่วม! รอบ 36 ปี “สะบ้าย้อย-นาทวี” จมบาดาล 15 อำเภอเดือดร้อนหลัก “ยะลา” แจ้งเตือน ปชช. ริมแม่น้ำปัตตานี ขนของขึ้นที่สูง "นายกฯ" ห่วงน้ำท่วมภาคใต้ สั่งเร่งช่วยเหลือประชาชนโดนด่วน “ภูมิธรรม” สั่งทุกเหล่าทัพระดมเครื่องมือ -สรรพกำลังเข้าช่วยเหลือปชช.ทันที
วันที่ 28 พ.ย.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ พร้อมรับทราบรายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และรายงานสถานการณ์ทุกอย่างให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงประชาชนอย่างมาก พร้อมสั่งการเร่งให้ระดมความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ รมช.กลาโหม บินด่วนลงพื้นที่ภาคใต้ ไปติดตามสถานการณ์ และ ดูแลการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมให้ประสานความร่วมมือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ที่จะเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 29พ.ย. นอกจากนี้ยังสั่งการให้ทุกเหล่าทัพ ระดมเครื่องมือ และ สรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำให้หลายพื้นที่มีสถานการณ์อุทกภัย และอีกหลายพื้นที่มีความเสี่ยงทั้งอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ล่าสุดพบสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยมอบหมายให้ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา พร้อมกำชับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมทรัพยากรทั้งเครื่องจักรสาธารณภัยและกำลังคนให้พร้อมสนับสนุนเหตุอุทกภัยภาคใต้
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม หลังเกิดฝนตกอย่างหนักและเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำกินของประชาชนในพื้นที่จ.สงขลา ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.จะนะ ,เทพา ,นาทวี และสะบ้าย้อย โดยเฉพาะพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย และอ.นาทวี ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมร้ายแรงและหนักที่สุดในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 31 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพบว่า มีพื้นที่ 15 อำเภอ 99 ตำบล 580 หมู่บ้าน 26 ชุมชนได้รับผลกระทบ ประชาชนเดือดร้อน 23,181 ครัวเรือน รวม 50,250 คน
ส่วนที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน EOC สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผวจ.ปัตตานี เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย รวม 12 อำเภอ โดยพบผู้ได้รับผลกระทบหนัก 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งยางแดง ,หนองจิก ,มายอ ,แม่ลาน ,ไม้แก่น และโคกโพธิ์ รวม 39 ตำบล 194 หมู่บ้าน 8,452 ครัวเรือน ราษฎรได้รับผลกระทบ 28,969 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จากการผลัดตกน้ำเสียชีวิต ล่าสุด ได้ประกาศให้ทั้ง 12 อำเภอเป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติแล้ว พร้อมปักธงแดง แจ้งว่าระดับน้ำอยู่ในสถานการวิกฤต ให้ประชาชนระมัดระวังน้ำที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง ร่วมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ โดยสูบน้ำเต็มกำลัง เพื่อให้น้ำระบายลงในแม่น้ำได้คล่องตัว
ขณะที่ เทศบาลนครยะลา ประกาศระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ขณะนี้วิกฤติสูงที่สุด ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 12 เซนติเมตร ส่งผลให้อาจจะล้นคันตลิ่งริมแม่น้ำ จึงขอเตือนผู้ที่อาศัยในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงโดยด่วน นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำปัตตานีและบริเวณใกล้เคียงที่มีความเสี่ยง โปรดขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงโดยด่วน