“พีระพันธุ์” เตรียมคลอดกฎหมายควบคุมราคาน้ำมัน ลั่น "น้ำมัน-ไฟฟ้า-แก๊ส" ต้องถูกลง  “นฤมล” ชูแผนพัฒนาการเกษตร ช่วย“ชาวนาไทย”มีรายได้เพิ่ม แก้หนี้ครัวเรือน-ที่ดินทำกิน ด้าน"เอกนัฏ" เอาจริงปฏิรูปอุตสาหกรรม ลดพิษสิ่งแวดล้อม สร้างแต้มต่อเศรษฐกิจไทยยุคใหม่

ที่อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.67 หนังสือพิมพ์สยามรัฐ จัดปาฐกถาพิเศษ วาระครบรอบ 71 ปี นิตยสารสยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์ หัวข้อ” Thailand next station เดินหน้าประเทศไทย” โดย นายกตพล คงอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามรัฐ จำกัด ให้การต้อนรับวิทยากรที่ร่วมการปาฐกถาพิเศษ อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ,นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ,นางนฤมล  สินภิญโญวัฒน์  รมว.เกษตรและสหกรณ์  ,นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และรศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า เรื่องพลังงานของประเทศมีผลต่อประเทศเยอะมาก ซึ่งพลังงานมีหลักอยู่ 3 อย่างคือ น้ำมัน ไฟฟ้า และแก๊ส ที่เป็นปัจจัยหลักของต้นทุนการผลิตและต้นทุนในการดำรงชีวิต และเป็นต้นทุนของประเทศ การที่เราจะทำให้สังคมเดินหน้า ประเทศเดินหน้า เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ต้องทำยังไงให้ราคาของพลังงานทั้ง 3 ตัวนี้ลงมาในระดับที่สอดคล้องกับค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจด้วย 

ในเบื้องต้น เรื่องค่าไฟฟ้าได้มีการตรึงราคาค่าไฟให้อยู่ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ส่วนเรื่องแก๊ส ตรงนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราพยายามตรึงราคาในส่วนนี้ไว้ได้ที่ราคาประมาณ 423 บาท ต่อ 15 กิโลกรัม ก็สามารถตรึงราคามาได้ตลอด อย่างน้อยเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่ไม่ขยับ ขณะที่ น้ำมัน จริงๆแล้วยากมาก เพราะไม่เคยควบคุมได้เลย ตรงนี้ทำให้เป็นปัญหาในเรื่องของต้นทุนการผลิตและการดำเนินชีวิตของประชาชน 

“วันนี้กระทรวงพลังงานกำลังกำหนดนโยบายแนวทางที่จะควบคุมราคาน้ำมันที่จะให้อยู่ในกรอบที่อยู่อำนาจที่รัฐบาลจะเข้าไปดำเนินการได้ อันดับแรกคือต้องเป็นกฎหมาย แล้วเรื่องเดียวกันนี้ก็ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีสำรองน้ำมันของประเทศ ที่บอกมี ๆ อยู่เป็นสำรองของบริษัทเอกชน ไม่ใช่สำรองเพื่อความมั่นคงของประเทศเหมือนที่หลายประเทศในโลกมี เราต้องมีสำรองด้านนี้อย่างน้อย 90 วัน แต่ทำยังไงจะให้เรื่องทั้งหมดนี้มาเป็นเรื่องเดียวกัน พูดง่ายๆเรามีสำรองน้ำมันด้วย ดูแลประชาชนได้ด้วย ควบคุมราคาได้ด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีกฎหมายฉบับนึงที่กำลังดำเนินการอยู่เราจะสามารถทำให้ประเทศไทยตรงนี้ดีขึ้น"

ด้าน นางนฤมล  สินภิญโญวัฒน์  รมว.เกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายสานต่อจากรัฐบาลที่แล้ว โดยจะใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ให้กับพี่น้องเกษตรกร  ซึ่งจะเป็นนโยบายที่สอดคล้องต่อเนื่องมาจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีทั้งหมด 9 นโยบาย และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 ที่ผ่ามมา กบข. มีมติที่เป็นข่าวดีให้กับพี่น้องชาวนาว่าสนับสนุนโครงการเพิ่มผลผลิต ให้กับพี่น้องที่ปลูกข้าว ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 10 ไร่

“รัฐบาลยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือรากหญ้า  โดยเฉพาะเราจะเห็นว่านายกฯพยายามเข้ามาแก้ปัญหาให้กับระดับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องที่ดินทำกิน  ซึ่งนายกฯให้ความสำคัญด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมาดูแล”

ขณะที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยและโลกเจอผลกระทบจากโควิด-19 ผลกระทบยังมาถึงจนทุกวันนี้ ยอดหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นกระทบไปทุกภาคส่วน วันนี้เราอยู่ในการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งนี้ตั้งแต่ตนเป็น รมว.อุตสาหกรรม ได้ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมต่อจากนี้ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใส่ใจคือ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน  สำหรับการปฏิรูปที่ 1 การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน การเพิ่มโทษอาญา การปฏิรูปที่ 2 Save อุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs บังคับใช้กฎหมายกับสินค้าต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐานที่ทะลักเข้าไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมต่างชาติลงทุนในไทย รวมถึงยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ การปฏิรูปที่ 3 การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวถึงการนำ AI และเทคโนโลยีมาใช้ และทิศทางของ Digital Economy ที่ส่งผลต่อประเทศไทยและอาเซียนว่า ถ้าหากมองจีดีพีไทยนั้น รายได้ต่าง ๆ ที่ประเทศสร้าง ส่วนใหญ่จะมาจากอุตสาหกรรมเก่าที่จับต้องได้

ทั้งนี้การนำระบบAI มาใช้งานนั้น จะเป็นการสร้าง Digital service Trade ที่จะสามารถสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับประเทศได้ อย่างมหาศาล ซึ่งถึงเวลาที่ประเทศไทยควรที่จะลงทุนเพื่อปฎิรูปอุตสาหกรรมที่เป็นบริบทใหม่ของโลกอนาคต และทำให้ประเทศไทยหลุดจากเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางได้ และยังจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

“กฎหมายที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตอลนั้น ประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากในประเทศแทบอาเซียน แต่อยู่ที่รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมารับบิทคอยน์มาเป็นทุนสำรอง ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาโดยด่วน ก่อนที่ต้นทุนจะมีสูงขึ้นมากกว่านี้ จะทำให้ประเทศขาดดุลมหาศาล และการออกสกุลเงินดิจิตอลโดยแบงก์ชาติ หรือ ไทยบาทสเอร์เบอร์คอยน์ ที่สอดคล้องกับการเดินหน้าของโลกอนาคต”