ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความรักไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ที่เลือกมากอาจเป็นเพราะยังไม่ได้ใน “แบบ” ที่ต้องการ
ณีรณัชชาเติบโตมาด้วยสายตาที่เห็นแต่ความรักของแม่กับพ่อ “อบอวล” อยู่เต็มบ้าน แม้เมื่อพ่อแม่เธอไม่อยู่แล้วเธอก็ยัง “ได้กลิ่น” ความรักของทั้งคู่นั้นอบอวลอยู่เสมอ โดยที่พ่อไม่เคยปริปากบ่นถึงความเหนื่อยยากในการทำงานที่พ่อน่าจะต้องทำมากกว่าการเป็นเสมียนบริษัทเพียงอย่างเดียว และไม่เคยติติงถึงความบกพร่องของแม่ที่ทำงานเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว พ่อนั้นถนอมน้ำใจแม่เอามาก ๆ ในขณะที่แม่ก็มีน้อยอกน้อยใจและหึงหวงบ้าง กระนั้นทั้งคู่ก็ไม่เคยห่างกันแม้แต่สักนาทีเดียวเมื่ออยู่บ้านด้วยกัน
แม้แม่จะบ่นเกี่ยวกับพ่ออยู่เป็นประจำ แต่แม่ก็ไม่เคยที่จะไม่เอาอกเอาใจพ่อ เช่นเดียวกันกับพ่อที่ดูจะอดทนทุกอย่างเพื่อให้แม่ยิ้มได้ กระทั่งในเวลาที่ทะเลาะกัน โดยทั้งคู่ไม่เคยมึนตึงกันเกินกว่าครึ่งวัน ทำให้ณีรณัชชาคิดถึงนิยายเรื่องหนึ่งที่เธออ่านจนจำได้ซึ้งใจ ที่ผู้ประพันธ์ใช้คำว่า “ประคองรัก” ซึ่งก็คงจะเหมือนกับสิ่งที่พ่อกับแม่ของเธอได้กระทำต่อกันและกันตลอดเวลานั้น ที่ทำให้เธอ “ยึดติด” และพยายามมาตลอดเวลาที่จะให้ได้ความรักแบบที่ “ประคองกันและกัน” ไว้เสมอนั้น
แม่ของเธอมักจะพูดถึงพ่อในทางชื่นชมอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่มักจะพูดถึงคุณตาด้วยความขื่นขมในทุกครั้งเช่นกัน แม่เคยถามเธอในตอนที่เธอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วว่า “มีผู้ชายมาชอบ ๆ มอง ๆ หรือพูดคุยด้วยบ้างไหม” เธอก็ตอบไปโดยซื่อว่า “มีเยอะ ก็เพื่อน ๆ และรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย” แล้วแม่ก็ซักโดยละเอียดไปในแต่ละคนที่มาคุยหรือมองเธอ พร้อมกับให้ระมัดระวังอย่างโน้นอย่างนี้ จนบางทีเมื่อแม่ถามถึงเรื่องผู้ชายในลักษณะนี้ขึ้นมา เธอก็ต้องโกหกแม่ไปบ้างว่าด้วยความรำคาญว่า เธอจะไม่คุยหรือคบกับใครแล้ว รวมถึงที่บางทีก็ต้องบอกแม่ว่าได้อ่านนิยายมามาก รู้จักผู้ชายที่ “ไม่ดี” มากมาย และจะไม่คบกับผู้ชายแบบนั้นเป็นอันขาด
แต่ความจริงเธอก็เคยแอบชอบรุ่นพี่คนหนึ่งอยู่ขณะหนึ่ง คือในมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนจะมีประเพณีอย่างหนึ่ง เรียกว่า “พี่เทค” หมายถึงการให้รุ่นพี่คอยดูแลรุ่นน้อง เพื่อให้รุ่นน้องมีความอบอุ่น เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ขณะเดียวกันก็สร้างสัมพันธ์กันเป็นรุ่น ๆ ให้เชื่อมโยงสืบทอดต่อ ๆ กันไป จึงมีพี่คนหนึ่งมาเป็นพี่เทคให้กับเธอ แรก ๆ เธอก็มีความรู้สึกแค่เพียงว่านี่คือกิจกรรมอย่างหนึ่งในมหาวิทยาลัย ไม่ได้คิดอะไรมาก จนเธอได้มองรุ่นพี่คนนี้ใกล้ ๆ นาน ๆ ก็เกิด “ถวิลหวัง” เป็นอารมณ์ย้อนถึงความผูกพันในอดีตแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นคือคำพูดของแม่เพื่อให้ระมัดระวังผู้ชาย รวมทั้งที่สร้างภาพให้เธอมีแต่ผู้ชายแบบที่ “เหมือนพ่อ” ทำให้เธอเกิด “ปิ๊ง” กับรุ่นพี่คนนี้ในทันทีที่มองเขานาน ๆ และคุยกันลึก ๆ ว่าเขาช่างมีอะไรที่เหมือนพ่อของเธออยู่มาก ทั้งรูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง และการเอาอกเอาใจ
รุ่นพี่คนนั้นยังมีอะไร ๆ ที่เหมือนกับพ่อของเธออีกมาก เช่น ตลอดเวลาที่ใกล้ชิดกัน รุ่นพี่คนนี้ไม่เคยแสดงกิริยาแทะโลมอะไรเลย แม้แต่จะพูดหรือใช้สายตา ก็มองเธออย่างสุภาพเรียบเฉย เหมือนอย่างที่แม่พูดถึงพ่อในตอนที่รู้จักกันตลอดเวลา ก่อนที่แม่เองจะเป็นฝ่ายบอกว่าชอบพ่อแล้วให้พ่อช่วยพาหนีออกมาอยู่ด้วยกัน จนเธอก็เกือบจะเผลอบอกชอบรุ่นพี่คนนี้ออกไปเหมือนกัน จนขึ้นชั้นปีสองที่เธอต้องไปเป็นพี่เทคของรุ่นน้องในปีต่อมา เธอก็ได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า การเป็นรุ่นพี่ที่ดูแลรุ่นน้องนี้จะต้องระมัดระวังในเรื่อง “ชู้สาว” นั้นให้มาก แม้แต่รุ่นพี่ผู้หญิงที่นอกจากจะต้องดูแลรุ่นน้องผู้ชาย ก็ยังจะต้องระวังในเรื่องที่จะไม่ให้มีอะไรเลยเถิดกับรุ่นน้องอีกด้วย ที่สุดเมื่อเธอเข้าใจถึง”ประเพณี” แบบนี้แล้ว เธอก็เลิกคิดถึงเรื่องการมีแฟนนั้นไปในทันที
ในปีที่เธอรับปริญญา พี่สาวของเธอก็แต่งงานไปอยู่กับสามี อีกปีต่อมาพ่อแม่ของเธอก็ประสบอุบัติเหตุระหว่างที่ไปเที่ยวในต่างจังหวัด เธอกับพี่สาวช่วยกันจัดงานศพให้บุพการีทั้งสองด้วยความอาลัยยิ่ง เธอช็อกและเสียใจอยู่เป็นปี พอดีกับเธอได้งานเป็นลูกจ้างที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ก็ต้องไปวุ่นวายกับการเริ่มต้นกับชีวิตใหม่โดยลำพังนี้ ขณะเดียวกันในที่ทำงานก็มีหนุ่ม ๆ มาเอาใจเธออยู่หลายคน รวมถึงคนในระดับผู้บังคับบัญชาที่ยังไม่มีภรรยา ก็มาก้อร่อก้อติกอยู่ด้วยเช่นกัน แต่เธอก็ระมัดระวังตัวมาก เหมือนมีแม่มาคอยสะกิด “เตือน” อยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา ความจริงเธอก็อยากมีชีวิตคู่เพื่อมา “ประคับประคองชีวิตรัก” เหมือนอย่างที่พ่อกับแม่เคยมีต่อกันนั้น รวมทั้งเพื่อมาทดแทนความโดดเดี่ยวภายหลังทั้งจากที่พี่สาวแต่งงานออกไปจากบ้าน และจากการที่ต้องอยู่เพียงลำพังโดยไม่มีพ่อและแม่ แต่เธอก็คิดถึง “ความมั่นคงในชีวิต” นั้นมากกว่า ซึ่งก็คือการแต่งงานนั้นจะยั่งยืนหรือไม่ และที่สำคัญกว่านั้นคนที่เราอยู่ด้วยจะเป็นคนดี “เสมอต้นเสมอปลาย” ไปจนตลอดนั้นได้จริงหรือ
โชคดีที่บ้านเธอยังมีความรักอีกแบบหนึ่ง คือความรักที่มีแก่สัตว์เลี้ยง โดยที่บ้านทาวน์เฮาส์ของเธอได้เลี้ยงหมามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตอนที่เธอต้องเหลืออยู่คนเดียวในบ้านนี้ก็ยังมีหมาอยู่อีก ๓ ตัว หมาทั้งสามนอกจากจะไม่ทำให้เธอว้าเหว่เงียบเหงาแล้ว ยังได้เป็นภาระให้เธอต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าดูแลทั้งเช้าและเย็น ต่อมาเมื่อเธอสอบได้เป็นข้าราชการและโอนย้ายมาทำงานในมหาวิทยาลัยที่เธอทำอยู่ในปัจจุบัน เธอก็มีงานที่ต้องไปต่างจังหวัดบ้าง ซึ่งเธอก็ต้องอาศัยเพื่อนบ้านช่วยดูแลให้อาหารผ่านทางข้างรั้ว แต่ในปัจจุบันนี้มีเครื่องให้อาหารอัตโนมัติที่เธอสั่งซื้อมาทางออนไลน์ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระที่จะต้องไปรบกวนเพื่อนบ้านนั้นได้พอสมควร รวมถึงคลินิกสัตว์เลี้ยงในซอยที่บ้านก็มีบริการฝากเลี้ยงแบบ “โฮเต็ลหมาแมว” ในราคาไม่แพง ก็พอจะได้อาศัยถ้าอยากให้หมาของเธอได้รับบริการที่อบอุ่นมากขึ้น
กว่า 20 ปีที่เธอทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แน่นอนว่าด้วยหน้าตาที่ถือว่าสวยงามโดดเด่นพอสมควร เธอก็มีผู้ชายมาติดพันชอบพออยู่ไม่ขาดสาย ถ้าเป็นสำนวนโบราณก็ต้องบอกว่า “หัวกระไดไม่แห้ง” ซึ่งเธอเองก็พยายามเปิดใจกว้างเพราะอยากจะแต่งงานให้มีชีวิตที่อบอุ่นเหมือนครั้งที่เคยเห็นพ่อกับแม่อยู่ด้วยกันนั้นเช่นกัน แต่จะเป็นด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่แน่ชัดที่ทำให้เธอระมัดระวังจนเกินเหตุ ทั้งที่เธอก็รู้ดีว่า “เลือกนักมักได้แร่” แต่ก็เหมือนมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในสมองเธออย่างมากมายในทุกครั้งที่เธอจะต้อง “วิเคราะห์เลือก” ว่าจะรับพิจารณาผู้ชายคนนี้อย่างไรหรือไม่ บางทีอาจจะเป็นด้วย “คำสอนของแม่” หรือ “นิยายที่ฝังใจ” รวมถึงประสบการณ์ของความล้มเหลวในชีวิตรักของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันรอบด้าน ที่ยังไม่เป็นเหมือนที่ “เคยฝัน”
ความรักนั้นมีหลายแบบที่เธอเคยเอามาเปรียบเทียบกัน ก็รู้ว่ามันไม่เหมือนกันและทดแทนกันไม่ได้ อย่างความรักอันแสนหวานและอบอุ่นแบบที่พ่อกับแม่ของเธอรักกัน ซึ่งเธอก็ยังไม่มั่นใจว่าจะหาได้เหมือน หรือความรักระหว่างคนกับสัตว์แบบที่เธอมีกับหมาที่บ้าน ก็ไม่น่าจะ “ถมเต็ม” ความปรารถนาในความรักที่เธอต้องการจริง ๆ นั้นได้ เธอเคยไปร่วมชุมนุมกับคณะต่าง ๆ ในทางการเมือง โดยคิดว่า “ความรักชาติ” อาจจะยิ่งใหญ่ที่สุดจนอาจจะไม่ต้องการความรักใดๆ ได้อีก มันก็ไม่ได้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ แบบที่ได้เคยเห็นพ่อกับแม่เคยรักกันนั้นเลย
การเดินทาง “แสวงหาความรัก” ของณีรณัชชาคงไม่อวสานง่าย ๆ เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ปิดกั้นตนเองให้กับความรักประเภทใด ๆ