เมื่อวันที่ 29 พ.ย.67 นายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์แอปพลิเคชัน X ชื่อบัญชี "Piyabutr Saengkanokkul" ระบุว่า "จาก 3 ก๊ก เคลื่อนสู่ 2 ขั้ว" 

ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” ก็มีคำอธิบายกันว่า การเมืองไทยในระยะต่อไป แบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่ 1. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล/ประชาชน 2. พรรคเพื่อไทย  3. กลุ่มอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม ซึ่งประกอบไปด้วย กลไกรัฐ และมวลชนที่ไม่ชอบทั้ง 1 และ 2 โดยมีหลายพรรคพยายามแย่งชิงการเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ 

ฐานคิดของการวิเคราะห์แบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ข้อ 1. พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันรักษา “ยี่ห้อ” หรือ “แบรนด์” เรื่องการต่อสู้ ที่ได้รับมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยังมีความพยายามที่จะหาหนทางใช้อำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอยู่บ้าง แม้ในเรื่องเล็กน้อย หรือทำทีละเล็กละน้อย ก็ตาม

2. กลุ่มอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม “ขาประจำ” ที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ก็ยังคงยืนยันไม่ชอบ และพยายามหาหนทางกำจัดคุณทักษิณต่อไป 3. พรรคเพื่อไทย บางส่วนยังคิดเชื่อมกับพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน อยู่บ้าง ในฐานะที่เคยอยู่ขั้วเดียวกันและต่อสู้ด้วยกันมากว่า 10 ปี และบางส่วนอาจคอยหยิบฉวยเอาพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน ไปใช้เป็น ”ไพ่โจ๊กเกอร์“ ต่อรองกับชนชั้นนำและพรรคร่วมรัฐบาลได้ 

ภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์เช่นนี้ และยังเคยนำไปพูดในหลายรายการว่า การเมืองแบบ 3 ก๊ก จะไม่มีก๊กใดก๊กหนึ่งยึดเบ็ดเสร็จ แต่ละก๊กไม่ต้องการให้มีก๊กใดก๊กหนึ่งขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ละก๊กจะพยายามแสวงหาพันธมิตรชั่วคราว เพื่อสู้กับอีกก๊ก 

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลทำงานมาสักระยะ จนคุณเศรษฐา รับภัยจาก “นิติสงคราม” เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นคุณแพทองธาร เราได้เห็นการแสดงออกหลายต่อหลายครั้ง ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะแกนนำ (ทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแบบทางการและทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแบบไม่เป็นทางการ) และ บรรดา ส.ส. หลายคน ที่ต้องการเอาใจผู้ออกใบอนุญาตใบที่สอง 

แม้เรื่องที่ง่ายที่สุด เบาที่สุด ไม่ได้ชัดเจนฟันธง คลุมๆเครือๆ อย่าง รายงานการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง ก็ยัง “กระโดดหนี” กันเกือบยกพรรค 

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ผมคิดว่า การแบ่ง 3 ก๊ก แบบที่ว่ากัน หรือที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วิเคราะห์ไว้ในรายการต่างๆนั้น อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจเป็นการวิเคราะห์จาก กระดานการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. มากกว่าปัจจัยชี้ขาดเรื่องความคิดและการต่อสู้

ผมจึงขอทดลองเสนอให้พิจารณาการแบ่งขั้วการเมืองโดยใช้ ”ชุดความคิดและแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง“ เป็นเส้นแบ่ง แทน

ดังที่ผมเคยนำเสนอในหลายโอกาสว่า ทุกวันนี้ การเมืองไทยอยู่ใน ”ระบอบประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” 

พรรคการเมืองจะเข้าสู่อำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลได้ นอกจากได้รับใบอนุญาตจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีใบอนุญาตให้เป็นรัฐบาล จากชนชั้นนำจารีตประเพณี อีกด้วย 

พรรคการเมืองอาจชนะเลือกตั้ง แต่ผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตที่สองไม่เอา พรรคนั้นก็อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล 

พรรคการเมืองอาจตั้งรัฐบาลไปได้ แต่แล้วผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตที่สองไม่พอใจ ก็อาจยึดคืนใบอนุญาตได้

ระบอบ 2 ใบอนุญาตนี้ ทำให้การเมืองไทยผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติ จนพรรคการเมืองหันเหไปให้น้ำหนักกับใบอนุญาตใบที่สองมากกว่าใบแรก 

หากนำความคิด “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งขั้วการเมือง ผมเห็นว่า การเมืองไทยกำลังเคลื่อนที่จาก “3 ก๊ก” ไปสู่ “2 ขั้ว” คือ พลังใหม่ และพลังเก่า 

พลังใหม่ คือ พลังทางการเมืองที่ให้น้ำหนักกับใบอนุญาตใบแรกของประชาชนเป็นสำคัญ และพยายามปรับโครงสร้างอำนาจการเมือง ยึดใบอนุญาตใบที่สอง เพื่อให้เหลือใบอนุญาตของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดเพียงใบเดียว ตามระบบปกติ 

พลังเก่า คือ พลังทางการเมืองที่หมอบ สยบยอม เอาใจ สวามิภักดิ์ กับผู้ทรงอำนาจในการออกใบอนุญาตที่สอง ส่วนใบอนุญาตใบแรกนั้น ก็หามาพอสังเขป 

ณ วันนี้ การเมืองไทย มิใช่ 3 ก๊ก แต่เป็น 2 ขั้ว 

ขั้วหนึ่ง พลังใหม่ ที่ต้องการยึดใบอนุญาตที่สอง ปรับให้การเมืองมาสู่ระบบปกติ 

อีกขั้วหนึ่ง พลังเก่า ที่มีหลายพรรคการเมืองกำลังแย่งกันเอาอกเอาใจผู้ทรงอำนาจในการออกใบอนุญาตใบที่สอง เพื่อขอให้พวกตนเองได้ตำแหน่ง อำนาจวาสนา เพื่อนำอำนาจมาแก้ปัญหาส่วนตนของพรรคพวกตนเอง เพื่อเอาใบอนุญาตที่ 2 มาชิงความได้เปรียบทางการเมือง และเพื่อให้ระบอบ 2 ใบอนุญาตนี้ดำรงอยู่ต่อไป เพราะ พวกตนได้ประโยชน์ 

พรรคการเมืองใด เป็นพลังใหม่ หรือพลังเก่า ประชาชนย่อมพิจารณาได้เองจากการกระทำ การแสดงออก และจุดยืนของพรรคการเมือง