หายนะคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย 20 ปีที่แล้ว ยังคงเป็นภาพทรงจำของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์คราวนั้น ด้านยูเนสโกเรียกร้องให้รัฐสมาชิกเพิ่มการลงทุนในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติสึนามิ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่เมืองบันดาอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย ยูเนสโกได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นสึนามิและผู้กำหนดนโยบายชั้นนำของโลกมารวมตัวกันที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 20 ปีหายนะคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ยูเนสโกได้เรียกร้องให้มีความพยายามมากขึ้นเพื่อบรรลุสภาพการณ์ที่ทุกชุมชนชายฝั่งทั่วโลกพร้อมรับมือกับคลื่นสึนามิภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีการนำเสนอแผนงานสู่เป้าหมายดังกล่าว ในระหว่างการประชุมนานาชาติที่ยูเนสโกได้จัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าโลก “มีความพร้อมรับมือมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน” เนื่องจากการดำเนินการภายใต้การประสานงานระหว่างยูเนสโกและพันธมิตรต่างๆ ในด้านสึนามิวิทยา ระบบเตือนภัย และการเตรียมความพร้อมรับมือในระดับชุมชน
ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก กล่าวว่า “ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ เราประสบความสำเร็จในการทำให้โลกปลอดภัยขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นสึนามิได้ดีขึ้น เราได้จัดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า และกว่า 30 ประเทศได้รับประโยชน์จากโครงการ Tsunami Ready ของยูเนสโกในการฝึกอบรมประชากรของตน แต่ยังมีงานต้องทำอีกมากมาย เราเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศลงทุนต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าชุมชนชายฝั่งสามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”
การประชุมของยูเนสโกเสร็จสิ้นด้วยการรับรองถ้อยแถลงบันดาอาเจะฮ์ ซึ่งเป็นคำมั่นของผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายระดับโลกที่จะปรับปรุงระบบเตือนภัยและบรรเทาผลกระทบจากสึนามิทั่วโลกสำหรับทศวรรษหน้า ถ้อยแถลงดังกล่าวเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมเพิ่มการลงทุนและความพยายามอย่างมาก เพื่อให้บรรลุสภาพการณ์ที่ทุกชุมชนชายฝั่งทั่วโลกพร้อมรับมือกับคลื่นสึนามิภายในปี พ.ศ. 2573 ผู้ร่วมประชุมเน้นย้ำว่าการบรรลุสภาพการณ์สากลนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากประชากรมากกว่า 700 ล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์สึนามิ
เพื่อให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงคำมั่นสัญญาที่มีร่วมกันนี้ ในระหว่างการประชุมมีชุมชนท้องถิ่นหลายชุมชนทั่วภูมิภาคได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าพร้อมรับมือกับคลื่นสึนามิ รวมถึง 26 ชุมชนในประเทศอินเดีย และ 12 ชุมชนในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการฝึกอบรม ได้มีการใช้เวลา 1 วันสำหรับการฝึกซ้อมแบบเรียลไทม์ในหมู่บ้านชายฝั่งทะเล 2 หมู่บ้านที่พร้อมรับมือกับคลื่นสึนามิ และอยู่ไม่ไกลจากเมืองบันดาอาเจะฮ์
การประชุมครั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของระบบเตือนภัยและบรรเทาภัยพิบัติสึนามิในมหาสมุทรอินเดียของยูเนสโก (Indian Ocean Tsunami Warning and Mitigation System – IOTWMS) และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องที่ยูเนสโกมอบให้ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยูเนสโกได้พยายามขยายระบบดังกล่าวไปยังทุกภูมิภาคของโลก โดยพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการตรวจวัดที่ทันสมัยและครอบคลุมกว้างขวาง
ปัจจุบันนี้เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวหลายหมื่นเครื่อง อีกทั้งสถานีวัดระดับน้ำทะเล หอสังเกตการณ์ใต้น้ำ และทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิใต้มหาสมุทร ทั้งหมดราว 1,200 แห่ง ช่วยตรวจจับและวัดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ได้ภายในระยะเวลาที่เพียงพอต่อการแจ้งเตือนชุมชนชายฝั่งที่อยู่ห่างไกล
หมายเหตุ : ข่าวสารและภาพ สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ