ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : ไทยและ 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วม ASEAN in One Cultural Garden

โครงการ ASEAN in One Cultural Garden ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลปะ ราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Fund: ACF) มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมอัตลักษณ์และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะด้านศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ในการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การแสดงนาฎศิลป์รายประเทศและการแสดงร่วมโดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ระหว่างวันที่ 25 – 29  พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ด้านประเทศไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)รายงาน ส่งคณะผู้แทน 2 ราย ได้แก่ นายเอกลักษณ์ หนูเงิน อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ สาขานาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนายญาณวุฒิ ไตรสุวรรณ อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ สาขานาฏศิลป์ไทย โขนยักษ์ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เข้าร่วมโครงการฯ โดยคณะผู้แทนไทยจัดการแสดงชุด “โขน-โนรา มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติไทย” เป็นการแสดงโขนอย่างราชสำนักไทยผสมผสานกับการแสดงโนราอันเป็นศิลปะพื้นบ้านจากภาคใต้ของไทย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

นอกจากนี้ร่วมกิจกรรมการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องการอนุรักษ์และการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย (The Preservation and promotion of the Intangible Cultural Heritage) และการแสดงร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในการแสดงชุด ASEAN in One Cultural Garden สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมีแนวคิดว่าประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมยืนหยัดร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมภายในภูมิภาคอย่างยั่งยืน