สัตวแพทยสมาคมฯ จับมือ สมาคมสัตวบาลฯ จัดประชุม ICVS 2024 ยกระดับห่วงโซ่คุณค่าอาหารมั่นคง เพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
วันที่ 28 พ.ย.67 สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผนึกกำลังกันครั้งแรกร่วมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 46 ประจำปี 2567 หรือ The International Conference on Veterinary Sciences 2024 (ICVS 2024) ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชูการรวมศาตร์ 2 วิชาชีพ มุ่งพัฒนาภาคปศุสัตว์ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมเป็นวิทยากรในหัวข้อ "Next Step of Livestock Thailand" (ก้าวต่อไปของปศุสัตว์ไทย)
นายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสู่ระบบดิจิทัล เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้การปฎิบัติงานสัตวแพทย์และงานสัตวบาลพัฒนาให้ทันกับความซับซ้อนของโรคในคนและโรคในสัตว์ และนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพสัตว์ตลอดจนการวินิจฉัยโรคชั้นสูงเพื่อรักษาอาการป่วยของสัตว์ได้อย่างแม่นยำ นอกจากจะทำให้สัตว์มีสุขภาพดีจากการเลี้ยงดูตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกจากห่วงโซ่การผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 46 นี้ ถือเป็นการเฉลิมฉลอง 77 ปี แห่งการก่อตั้งสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และ 48 ปี ที่ก่อตั้งสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้แนวคิด “ประสานศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียวกับการสัตวบาลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลก (Bridging One-health and Animal Science for Global Well-being)” เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่โดยวิทยากรชั้นนำจากทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 3,000 คน
สำหรับ 4 ประเด็นหลัก ที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันในที่ประชุมและการบรรยายครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) การเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การทำงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพและความกังวลด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมบรรยายในหัวข้อ “โรคไวรัสในคนและสัตว์ โรคติดต่อสัตว์สู่คน และการเตรียมตัวสำหรับอนาคต”
2. สวัสดิภาพและการจัดการสุขภาพสัตว์ (Animal welfare and health) การสำรวจความก้าวหน้าด้านสุขภาพสัตว์ มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก ซึ่งจะสร้างการยอมรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของไทยในระดับสากล และข้อพิจารณาด้านจริยธรรมในการวิจัย ตลอดจนการผลิตสัตว์ในห่วงโซ่ ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม สู่โรงชำแหละ โรงงานแปรรูปอาหาร
3. เทคโนโลยีการสัตว์สมัยใหม่ (Emerging technologies) นำเสนอความก้าวหน้าเทคโนโลยีชีวภาพและสุขภาพดิจิทัลที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพของทั้งมนุษย์และสัตว์ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) and เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และบทบาทของเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคและผลิตยา ไปจนถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อความยั่งยืน
4. การเกษตรยั่งยืน (Sustainable agriculture) การลดภาวะเรือนกระจกที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย การใช้ by-products ในท้องถิ่นสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง เป็นต้น
นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ที่ได้เชิญสมาคมสัตวบาลฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ICVS 2024 ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการปศุสัตว์ไทยที่ทั้งสองสมาคมผนึกกำลังกันเพื่อยกระดับบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ไทย เพื่อรองรับการขยายตัวและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล โดยปรับปรุงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการผสมพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงดูและจัดการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง การสุขาภิบาล สุขอนามัย การปรับปรุงโรงเรือน อุปกรณ์ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ คือ ไม่หิวกระหาย อยู่อย่างสุขสบาย ไม่เจ็บป่วย ไม่หวาดกลัว ได้แสดงออกตามธรรมชาติของสัตว์ ให้สัตว์มีสุขภาพดีซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพเนื้อด้วย
ภายในงาน ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านโรค พิษสุนัขบ้าระหว่าง กรมปศุสัตว์, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ ประธานจัดงานในครั้งนี้ ขอเชิญชวน นักวิชาการทางด้านสัตวแพทย์ สัตวบาล คณาจารย์ นิสิต นักศึกษาของทั้งสองวิชาชีพ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เพื่อรับทราบ เรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียน-การสอนและการปรับปรุงพันธุ์ ตลอดจนการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่ เพื่อส่งต่ออาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทุกคน