ประมงจังหวัดสงขลา และ ประมงจังหวัดพัทลุง ยืนยันทะเลสาบสงขลายังไม่พบปลาหมอคางดำ ไม่นิ่งนอนใจจับมือเอกชนและชุมชนปล่อยลูกปลากะพงขาวลงแหล่งน้ำ ด้วยแนวทางเชิงป้องกัน สร้างแนวกันชนด้วยการปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาวลงในแหล่งน้ำ ป้องกันปลาหมอคางดำรุกเข้าไปในทะเลสาบสงขลา พร้อมผนึกพลังชุมชนและชาวประมงเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

วันที่ 28 พ.ย.67 นายภูษิต จันทร์เพชร ประมงจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ที่ผ่านมาประมงจังหวัดพัทลุงบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ชาวประมง และภาคเอกชนจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับชุมชนในจังหวัด และชาวประมงที่อยู่รอบทะเลสาบเพื่อสร้างการรับรู้ปลาชนิดนี้ให้ช่วยกันสอดส่อง ยับยั้ง ป้องกัน เฝ้าระวังในพื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลา และรอยต่อระหว่างจังหวัดสงขลา และจัดชุดปฏิบัติการชาวประมงสำรวจปลาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่พบปลาหมอคางดำในทะเลสาบสงขลา  

ทั้งนี้ พัทลุงไม่เคยนิ่งนอนใจให้ความสำคัญกับการดำเนินการเชิงป้องกัน ติดตามสำรวจปลาหมอคางดำในพื้นที่ ไม่รอให้เกิดการแพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ และในช่วงที่มีฝนตกชุกในพื้นที่  จังหวัดพัทลุงได้ปล่อยปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้ว จำนวน 8,000 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงในแหล่งน้ำที่พบปลาหมอคางดำ รวมทั้งแหล่งน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา เป็นรอยต่อกับอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างแนวกันชน หากมีปลาหมอคางดำหลุดเข้ามาในช่วงที่น้ำหลาก นอกจากนี้ ปลากะพงขาวยังเป็นปลาเศรษฐกิจให้ชาวประมงในพื้นที่จับมาจำหน่าย ช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการติดตามเฝ้าระวังปลาหมอคางดำ

ด้านจังหวัดสงขลา สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา โดยนายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา ได้มอบหมายให้นายยุคล เหมบัณฑิต หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง นายชูศักดิ์ บริสุทธิ์ ประมงอำเภอสทิงพระ นายศุภโชค เกื้ออรุณ ประมงอำเภอระโนด ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา ชมรมกุ้งอำเภอระโนด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และตัวแทนจากซีพีเอฟ ดำเนินการปล่อยปลากะพงขาว ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 10,000 ตัว ลงในแหล่งน้ำเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำ 3 จุดในพื้นที่อำเภอระโนด ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็กที่อยู่ในแหล่งน้ำ และเป็นปราการป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำแพร่กระจายออกไปที่ทะเลสาบสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงอย่างยั่งยืน

การปล่อยปลากะพงขาว หรือ ปลานักล่า เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำของกรมประมงเพื่อช่วยจำกัดพื้นที่ไม่ให้ปลาหมอคางดำขยายวงไปพื้นที่อื่น ขณะเดียวกัน ปลากะพงขาวยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่ชุมชนสร้างเป็นรายได้ให้ชาวประมงอีกด้วย