ปภ. ระดมทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย กว่า 500 รายการ จาก ศูนย์ ปภ. เขต เร่งสมทบช่วยน้ำท่วมภาคใต้ – เตรียมลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมใต้ 29 พ.ย. นี้

ปภ. วันนี้ (28 พ.ย. ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระดมทีมปฏิบัติการ พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ต่าง ๆ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมกำชับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียงและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เตรียมความพร้อมรองรับการสนับสนุนปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ที่กำลังประสบสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมลงพื้นที่กับ มท.อนุทิน 29 พ.ย. นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมใต้

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวม 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน โดยสถานการณ์น้ำในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมทรัพยากรทั้งเครื่องจักรสาธารณภัยและกำลังเจ้าหน้าที่เข้าสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ต่าง ๆ ระดมทีมปฏิบัติการ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนการปฏิบัติร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัย เพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ในความรับผิดชอบ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยกระจายเครื่องจักรกลสาธารณภัยไปยังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 5 จังหวัด รวม 473 รายการ อาทิ รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำ เรือท้องแบน เครื่องยนต์เรือพร้อมอุปกรณ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และขณะนี้ได้ส่งทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมื่อและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต อีก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และ เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย รถบรรทุกลากเรือยนต์กู้ภัยพร้อมอุปกรณ์ รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล รวมทั้งสิ้น 41 รายการ เข้าร่วมช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินทางทยอยเข้าพื้นที่เพื่อรับมอบภารกิจต่อไป


นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังได้ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA – 32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 "The Guardian Team" ปัจจุบันประจำการอยู่ ณ ค่ายวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถพร้อมยกตัวออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนทางอากาศยานเพื่อสนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้โดยทันที เมื่อได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีความปลอดภัยในการบิน 

 “ปภ.มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมกำชับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียงและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัยในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้พร้อมรองรับสำหรับการสนับสนุนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ที่กำลังประสบสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้ประสานจังหวัดจัดเตรียม “ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดทะเลภาคใต้ 7 จังหวัด 12 แห่ง ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส สามารถรองรับผู้อพยพได้แห่งละ 300 คน และศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 2,733 แห่ง ให้พร้อมรองรับการอพยพของประชาชนหากสถานการณ์อุทกภัยมีความรุนแรงขึ้น โดยยึดหลักประชาชนจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเหมาะสม โดยในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย. 67) ตนจะเดินทางร่วมกับคณะ มท.อนุทิน เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป” นายภาสกร กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชน   ยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”