Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.54 บาทต่อดอลลาร์

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.67 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.42-34.58 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงใกล้โซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคม จะอยู่ที่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อยู่ที่ระดับ 2.8% ตามคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็มองว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2 % ของเฟดและเริ่มชะลอตัวลงช้า ทำให้เฟดอาจลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันก็กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาทองคำยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลสถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มลดลง หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah 


แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสอยู่ ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็ทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเทคฯ ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Tesla -1.6%, Nvidia -1.2% ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นการลดสถานะถือครองในช่วงก่อนวันหยุด Thanksgiving ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันพฤหัสฯ นี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.38% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.19% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นฝรั่งเศส จากความกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ไม่ต่างกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาทิ ASML -1.9%, SAP -1.4% 

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวแถวโซน 4.20%-4.30% แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่เข้าสู่โหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น จะกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัดการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจอยู่ ทำให้นักลงทุนสามารถรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Down แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะแข็งค่าต่อเนื่อง จนหลุดโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ แต่เงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดยรวมสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยต่อเนื่องไม่มากนัก ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 106 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยต่ออีกไม่มาก ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซน 2,660 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BOK อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25% เพื่อช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินวอนเกาหลี (KRW) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้และเศรษฐกิจโดยรวมก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ BOK สามารถทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจดูสงบลงได้บ้างในช่วงนี้ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah 


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้าที่ได้แรงหนุนจากทั้งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในช่วงนั้น รวมถึงการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ก็อาจทำให้ กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นจากโซนการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนหน้า โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทว่า เราคงมองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนของเงินบาท อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก หากราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า (Importers) รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบ เพิ่มเติมได้ หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรในช่วงก่อนหน้า อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงกังวลต่อการขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการแข็งค่าของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ที่ในระยะหลังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทพอสมควร (Highly Correlated) อนึ่ง หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็อาจเปิดโอกาสแข็งค่าต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ (โอกาสยังน้อยอยู่) ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทจะขยับลงมาแถวโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์ 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาท/ดอลลาร์

#กรุงไทย #เงินบาท #เงินตรา #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์