"นราธิวาส" อ่วม! น้ำท่วมหนัก 5 อำเภอ ประชาชนได้รับกระทบกว่า 1,400 ครัวเรือน "ยะลา" ฝนตกหนักต่อเนื่อง 2 วัน ส่งผลให้ดินสไลด์ถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านทรุดตัวเป็นเหวลึก น้ำป่าไหลหลากท่วมพื้นที่ทางการเกษตร 3 อำเภอ ขณะที่ "สงขลา" เหลือรอดไม่ถูกน้ำท่วมแค่อำเภอเดียว จากทั้งหมด 16 อำเภอ
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.นราธิวาส หลังมีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน (26 พ.ย.) ในพื้นที่อ.เมือง บาเจาะ แว้ง รือเสาะ เจาะไอร้อง และสุคิริน ได้รับผลกระทบมีน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส น้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส บริเวณถนนพิชิตบำรุง อ.เมืองนราธิวาส หน้าตลาดสดเขตเทศบาล ซึ่งเป็นย่านการค้า เกิดน้ำท่วมขัง ประมาณ 40 เซนติเมตร รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ ร้านค้าต่างๆ ได้รับความเสียหายจากน้ำที่เข้าท่วมจำนวนมาก
ขณะที่ช่วงเช้า โครงการชลประทานจังหวัดนราธิวาส ออกประกาศแจ้งเตือนระดับน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำโก-ลก แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในบริเวณต่างๆ เช่น บริเวณริมแม่น้ำสายบุรี บริเวณชุมชนบ้านท่าเรือ ต.บาตง ชุมชนบ้านนาโอน ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ ชุมชนบ้านชากอ บ้านตะโละ (ตือโละ) ต.ศรีสาคร บริเวณริมแม่น้ำโก-ลก บริเวณอ.สุไหงปาดี อ.แว้งลง และอ.สุไหงโก-ลก ในเขตเทศบาล สุไหงโก-ลก ตลาดบ้านมูโนะ ต.มูโนะ และอ.ตากใบ พร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ขอให้ขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ สัตว์เลี้ยงขึ้นในที่ปลอดภัย และให้ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ออกประกาศเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ระหว่าง วันที่ 27 พ.ย.-4 ธ.ค.67 แจ้งเตือนเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และและคลองตันหยงมัส สั่งการให้ทุกอำเภอ ร่วมกับ อปท. จนท.ตร.จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายและเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนทันที และติดตั้งเสริมเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภาพรวม จ.นราธิวาสมีพื้นที่ได้รับความผลกระทบจากสถานการณ์น้ำแล้วทั้งสิ้น 5 อำเภอ 22 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,409 ครัวเรือน 4,595 คน
ขณะนี้ ปริมาณน้ำฝนทุกพื้นที่เกินระดับ ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงขนย้ายสิ่งของมีค่า ผู้ป่วยติดเตียง และสัตว์เลี้ยง ไว้ในที่ปลอดภัย หากต้องการความช่วยเหลือ แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องที่ ท้องถิ่น หรือ โทรสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมัคร นอระพา นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ พร้อมด้วยนายอับดุลรามัน คอแดะ กำนัน ต.ธารน้ำทิพย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบดินสไลด์ถนนทรุดตัว พื้นที่ ม.3 บ้านกาแป๊ะซาลัง ต.ธารน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้าน ม.5 บ้านราโมง ตำบลยะรม หลังเกิดดินสไลด์ถนนทรุดตัวของไหล่ทางเป็นเหวลึกกว่า 4 เมตร ทำให้พื้นถนนเกือบขาดออกจากกันเป้นแนวยาว 15 เมตร และใต้ถนนยังเกิดโพรงลึกที่พร้อมจะถล่มลงมาทุกเมื่อหากไม่มีการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนและผู้ใช้เส้นทาง ทำให้รถทุกประเภทไม่สามารถผ่านได้ โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสาร เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงยะรมได้ติดตั้งป้ายเตือน และนำแผงกั้นจราจร ไปกั้นจุดที่เกิดดินสไลด์เอาไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน
นอกจากนี้ ฝนที่ตกติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากมวลน้ำได้ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ได้รับความเสียหายจำนวนมาก บ่อปลาของชาวบ้านบ้านกาแป๊ะซาลัง ถูกน้ำท่วม ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้หลายพันตัว หลุดหายไปกับกระแสน้ำ ทั้งๆ ที่อีก 1 เดือนจะจับขาย หลังรอคอยมานาน 4 เดือน เท่ากับเงินไหลไปกับกระแสน้ำ โดยนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้เฝ้าระวังและออกประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้กับภูเขาและเนินเขาให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่อาจทำให้สถานการณ์ดินสไลด์รุนแรงขึ้นได้
ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จ.ยะลา ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยจ.ยะลา วันที่ 27 พ.ย.67 ตามที่ได้มีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26-27 พ.ย.67 ปริมาณฝนสะสม ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่จังหวัดยะลา ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา จำนวน 10 ตำบล 26 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,501 ครัวเรือน 66,004 คน อ.ยะหา จำนวน 6 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72 ครัวเรือน 360 คน และ อ.บันนังสตา จำนวน 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16 ครัวเรือน 80 คน ส่วนพื้นที่อื่น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจความเสียหาย
ทั้งนี้ แนวโน้มยังมีฝนตกต่อเนื่อง จังหวัดยะลาได้แจ้งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความความพร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และได้มีการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางแจ้งเตือนระดับน้ำที่จะลันตลิ่งทั้งแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานีให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ชนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยงไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลาได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่ จ.สงขลา สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลังฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ส่งผลให้น้ำท่วมเกือบยกจังหวัด บางหมู่บ้านถูกน้ำป่าไหลหลาก ชาวบ้านไม่ทันตั้งตัว โดยล่าสุดทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว 15 อำเภอ จากพื้นที่ 16 อำเภอ ของ จ.สงขลา ขณะนี้เหลือเพียงอำเภอเดียวที่น้ำยังไม่ท่วม คือ อ.กระแสสินธุ์
ส่วนอำเภอที่น้ำท่วมหนัก คือพื้นที่อำเภอที่อยู่ทางตอนใต้ของ จ.สงขลา เช่น อ.เทพา นาทวี สะบ้าย้อย จะนะ และ อ.สะเดา โดยเฉพาะ อ.เทพา มีปริมาณฝนตกสะสมมากที่สุดถึง 320 มม. และหนึ่งในพื้นที่ที่ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนหนักที่สุดของจ.สงขลา คือ ที่บ้านน้ำลัด หมู่ 6 ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นหมู่บ้านแรกที่รับน้ำจากเขาน้ำค้าง ถูกน้ำป่าไหลท่วม กว่า 100 ครัวเรือน และกระแสน้ำไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านไม่ทันตั้งตัว และเคลื่อนย้ายสิ่งของไม่ทัน
ด้าน นายวิเชษฐ์ สายกี้เส้ง นายอำเภอสะเดา นำทีมทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 ร้อย ร.5021 ฝ่ายปกครองอำเภอสะเดา ตำรวจภูธรสะเดา ตำรวจตระเวนชายแดน 437 และผู้นำชุมชนลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนถูกน้ำท่วมบ้าน และช่วยเคลื่อนย้ายสิ่งของออกจากบ้านเพื่อให้ความสูญเสียน้อยที่สุด
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตำบลของ อ.สะเดา ที่มวลน้ำจะไหลผ่าน คือ ต.ทุ่งหมอ ต.ท่าโพธิ์ ต.ปริก ได้แจ้งเตือนให้ชาวบ้านเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้ว