เมื่อวันที่ 27 พ.ย.67 รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) โพสต์เฟซบุ๊ก "หมอหมู วีระศักดิ์" ระบุข้อความว่า  ไวรัสร้ายแรง ระบาด 17 ประเทศ เลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะ

ขณะนี้มีการพบฝีดาษวานรสายพันธุ์ clade I (clade I strain of mpox), ไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg) และไวรัสโอโรพุช (Oropouche) ใน 17 ประเทศ รวมทั้งจุดระบาดแห่งหนึ่งในแถบแคริบเบียนด้วย

ไวรัสมาร์เบิร์กซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตสามารถทำให้ผู้ป่วยเลือดออกตาได้ และมีอัตราการเสียชีวิตที่น่าตกใจถึง 88 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจาก WHO เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2024 รายงานว่า สาธารณรัฐรวันดา มีผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์เบิร์กทั้งหมด 64 ราย รวมผู้เสียชีวิต 15 ราย (อัตราการเสียชีวิต 23.4%) ขณะนี้มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่ที่ 1,146 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2024) โดยกรณีเริ่มต้นเป็นชายอายุระหว่าง 20 – 30 ปี ที่มีประวัติสัมผัสกับค้างคาวในถ้ำ ส่วนใหญ่ในเขตเมืองคิกาลี (Kigali)

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease, MVD)

1. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus Disease: MVD) พบการ ระบาดครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) จากการระบาดในเมืองมาร์บวร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และเมืองเบลเกรดในประเทศเซอร์เบีย ซึ่งอัตราป่วยตายของโรคสูงถึงร้อยละ 24 – 88

2. สามารถติดต่อได้ 2 ช่องทาง

2.1 สัตว์สู่คน เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายจากค้างคาวผลไม้ของอียิปต์ (Rousettus bat) ที่ติดเชื้อสู่คน ไวรัสนี้พบได้ในน้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระของค้างคาวที่ติดเชื้อ ซึ่งพบมากในเหมืองและถ้ำในทวีปแอฟริกา

2.2 คนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรง (ผ่านผิวหนังที่แตกหรือเยื่อเมือก) กับเลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวในร่างกายอื่นๆ ของผู้ติดเชื้อ และจากพื้นผิวและวัสดุ เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า ที่ปนเปื้อนของเหลว

3. อาการในช่วงแรกผู้ป่วยจะไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ช่วงหลังนั้นจะเริ่มมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว และมีผื่นนูนแดงภายใน 2 ถึง 7 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยอาการรุนแรง อาจพบ ภาวะเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่าง ๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิต ในช่วง 8-9 วันหลังเริ่มมีอาการ

4. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่ได้รับอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคอง

 

แนวทางการป้องกันและควบคุมโรคสำหรับประเทศไทย

1. ผู้ที่มีประวัติเดินทางจากสาธารณรัฐรวันดา และประเทศในแถบแอฟริกา ควรสังเกตอาการเบื้องต้นเป็นเวลา 21 วัน หากมีอาการ ไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ควรไปพบแพทย์ และตรวจหาเชื้อทันที

2. ผู้ป่วยที่สงสัยหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ ควรแยกกักตัวอย่างน้อย 42 วัน

3. ยึดมาตรการ D-M-H-T

D (Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น

M (Mask Wearing) สวมหน้ากากอนามัย

H (Hands Washing) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์

T (Temperature Check) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสังเกตอาการ

อ้างอิงข้อมูลจาก: กรมควบคุมโรค

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์