“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17” เปิดฉากวันแรกสุดคึกคัก ภาคีเครือข่ายทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 3,000 ชีวิต ด้าน รมช.สธ. “เดชอิศม์” เป็นตัวแทนประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลก “การมีส่วนร่วมของสังคม” พร้อมเดินหน้าแสวงหาฉันทมติ 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคน – ท่องเที่ยวแนวใหม่” พร้อมเสนอ 2 ประเด็นใหญ่ “ทวงคืนสิ่งแวดล้อม-สานพลังสู้ NCDs” เป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 27 พ.ย.2567 นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในที่ประชุมกว่า 2,000 คน และผ่านระบบออนไลน์อีกกว่า 1,000 บัญชี

นายเดชอิศม์ ยังได้ร่วมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจกับสุขภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย: ความท้าทายคืออะไร?” โดยระบุตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจกับสุขภาพถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ฯลฯ ภายใต้แนวคิดการมองเรื่องสุขภาพในปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ อย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่นานาประเทศมุ่งขับเคลื่อนให้บรรลุภายในปี 2573

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า หลายคนอาจมีความคาดหวังมาที่ สธ.ในการทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน แต่เราจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หากเทียบกับเมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่เราเคยมีน้ำ มีอากาศสะอาด มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่มาปัจจุบันสภาพแวดล้อมเราถูกทำลาย เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นเป็นจำนวนมาก หรืออาจเรียกได้ว่าเราสูญเสียเอกราชทางสิ่งแวดล้อมไป ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีจึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทาง เพราะถ้าปล่อย สธ. ดูแลที่ปลายทางเพียงลำพัง ต่อให้ใช้งบประมาณมายมายเท่าไรก็ไม่เพียงพอ

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ สธ.มีความคิดอยากจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพคนไทย เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการรับผิดชอบดูแลโรงงานทุกชนิด บนการบังคับใช้ข้อกฎหมายและบทลงโทษต่างๆ ที่เหมาะสม, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลภาวะตั้งแต่ต้นทาง, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในการดูแลระบบสาธารณูปโภคของท้องถิ่นต่างๆ ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อประชาชน

“อีกเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบใหญ่หลวงกับเศรษฐกิจของประเทศ คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ปัจจุบันมีคนไทยตายจากโรคนี้ปีละไม่น้อยกว่า 4 แสนคน และมีแนวโน้มมากขึ้น สร้างความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านล้านบาท จึงอยากให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรคนี้ไปพร้อมๆ กัน เพราะงบประมาณที่ สธ. ต้องใช้ในการดูแลเรื่องนี้ปีละไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท หากลดลงไปได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ก็สามารถนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้อีกมาก จึงอยากฝากว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องประกาศเรื่องเหล่านี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งการทวงคืนสิ่งแวดล้อม และการลดโรค NCDs เพื่อจะดูแลสุขภาพคนไทยได้อย่างยั่งยืน” นายเดชอิศม์ กล่าว

นอกจากนี้ นายเดชอิศม์ ยังได้ร่วมเป็นตัวแทนประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการสานพลังหน่วยงาน องค์กรภาคี เครือข่าย เพื่อร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลก เรื่องการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นมติที่ประเทศไทยได้ร่วมพัฒนากับประเทศสโลวีเนีย และถูกรับรองโดยประเทศสมาชิกในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 77 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2567

“เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ขอประกาศเจตนารมณ์ว่าพวกเราจะสานพลังความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพสู่ความเป็นธรรม และแก้วิกฤตต่างๆ ด้วยการมีส่วนร่วมของสังคม ตามเป้าหมายของสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 โดย 1. จัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพ ให้มีตัวแทนของประชาชน รวมทั้งกลุ่มคนเปราะบางและชายขอบเข้าร่วม 2. ปรับปรุงและพัฒนากลไกกระบวนการมีส่วนร่วนร่วมของสังคมให้หลากหลาย ทันสมัย เหมาะกับประชาชนทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพให้กับหน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม ชุมชม” คำประกาศเจตนารมณ์ตอนหนึ่ง ระบุ

ขณะที่ น.ส.ไซมา วาเซด ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO SEARO) กล่าวว่า สุขภาพ (Health) คือความมั่งคั่ง (Wealth) ที่แท้จริงของทุกประเทศ ซึ่งถือเป็นหลักขั้นพื้นฐานในการทำงานของ WHO และเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ทุกคนมารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อมาร่วมกันรับรองหลักการมีส่วนร่วมของสังคม ที่จะทำให้เสียงสะท้อนของผู้คนไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความท้าทาย ข้อเสนอของกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ชายขอบห่างไกลแค่ไหน ก็สามารถส่งออกมาถึงผู้กำหนดนโยบาย เพื่อแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ภายในเวทีเดียวกันนี้ ยังมีผู้แทนจากประเทศสโลวีเนีย ฝรั่งเศส บราซิล ตัวแทนภาคประชาสังคม และกลุ่มคนรุ่นใหม่จาก WHO เครือข่ายนานาชาติ UHC 2030 ตลอดจนคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ได้ร่วมกันกล่าวย้ำความสำคัญในการมีส่วนร่วมของสังคม พร้อมแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลกดังกล่าว รวมทั้งแสดงความชื่นชมถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย ที่ได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคมมาเป็นเวลากว่า 17 ปี

ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่จะดำเนินในช่วงตลอดวันที่ 27-28 พ.ย. นี้ ภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพจะร่วมกันประชุมใน 3 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย การรายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา รวมทั้งพิจารณาและให้ฉันทมติรับรองระเบียบวาระใหม่ของปีนี้อีก 2 มติ ได้แก่ 1. พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ และ 2. การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน