กรมชลฯ เร่งแก้ปัญหา พร้อมวางแผนพัฒนา“โครงการขุดลอกคลองลายพัน” เพื่อชาวพัทลุง

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว “ชาวบ้านพัทลุงร้อง ขุดลอกคลองลายพันไม่คุ้มค่า แถมตลิ่งพังทลายหลังการขุดลอก เสียหาย” นั้น กรมชลประทาน ขอชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า โครงการปรับปรุงคันกั้นน้ำเหนือ - ท้ายฝายพญาโฮ้ง และอาคารประกอบ(โครงการขุดลอกคลองลายพัน) ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานพัทลุง สำนักงานชลประทานที่ 16 เพื่อป้องกันอุทกภัย น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลชะรัด หมู่ที่ 5 ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างดาดคอนกรีตและถนนเลียบคลองบริเวณคลองลายพัน หมู่ที่ 3 -5 ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตร และสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง

โครงการปรับปรุงคันกั้นน้ำเหนือ - ท้ายฝายพญาโฮ้ง และอาคารประกอบ(โครงการขุดลอกคลองลายพัน) ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบงานเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในช่วงการดำเนินการก่อสร้างมีการขยายความกว้างของลำคลอง จึงจำเป็นต้องตัดต้นไม้ริมคลองเพื่อดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องขาดความสะดวกในการเข้าใช้น้ำในลำคลองดังกล่าวบ้าง  แต่เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยระหว่างดำเนินการ โครงการชลประทานพัทลุงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งได้มีหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่อาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างขนาดเล็กจึงไม่มีค่าเวนคืนที่ดินหรือค่าทดแทนแต่อย่างใด โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการตามกระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ต่อมามีการตรวจพบว่าท่อส่งน้ำ คันคลอง ถนน มีความชำรุดบกพร่อง โครงการชลประทานพัทลุง ได้มีการทำเรื่องไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะดำเนินการปลูกพืชคลุมดินเพื่อยึดเกาะหน้าดิน ป้องกันหน้าดินพังทลายในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลูกไผ่หรือพืชทดแทนอื่นเพื่อช่วยป้องกันหน้าดินโดยชาวบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป