วันที่ 27 พ.ย.67 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ​ ลักขณาอดิศร  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลง ว่า การประชุมกมธ.ฯในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) ได้เชิญผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ รฟท.), ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ,อธิบดีกรมที่ดิน และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาชี้แจงต่อกมธ.ฯ เนื่องจากมีข้อสงสัย และได้รับการร้องเรียนว่า ในการอนุญาตก่อสร้างค่ายมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26 นั้น อาจมีการสร้างผิดที่จากเดิมที่กองทัพเคยขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 มีการขออนุญาตจากจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ที่ขออนุญาตคือจังหวัดทหารบกสุรินทร์(แยกบุรีรัมย์) ที่ขอสร้างค่ายทหารในจังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อกองพันทหารราบเบา ปรากฎว่าได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ขณะนั้นให้สร้างตามหนังสือสำคัญที่หลวง นสล.4130 และมีการก่อสร้างจนกลายเป็น ร.23 พัน.4 คือค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในปัจจุบัน 

นายวิโรจน์ กล่าวต่อม่า เมื่อไปดูที่ตั้งค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเทียบกับหนังสืออนุญาตของผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ขณะนั้น มีข้อสงสัยว่า จะมีการสร้างค่ายทหารผิดที่ และที่ควรจะสร้าง ปรากฎว่าเป็นที่ข้อพิพาทเขากระโดง เพราะมีบุคคล คนหนึ่งอ้างว่าซื้อที่มาจากตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง แล้วไปฟ้องร้องต่อการรถไฟ ปรากฎว่าการรถไฟก็ฟ้องแย้ง จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ตรงนั้นเป็นที่รถไฟจริง และที่แปลงนั้นควรจะเป็นที่ตั้งค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในปัจจุบัน แต่เหตุใดทำไมค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ถึงไปอยู่อีกที่หนึ่ง ที่ห่างจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ 2 กิโลเมตร

“อยากถามว่า หมุดหมายของใบอนุญาตอยู่ตรงไหนกันแน่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข้อสงสัยว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ทรงอิทธิพล ขนาดค่ายทหารยังยอม ย้ายค่ายหนีจริงหรือไม่ ดังนั้นรายละเอียดทั้งหมดเราจะสอบกันในวันที่ 28 พ.ย.” นายวิโรจน์ กล่าว

นายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ อดีตผู้สมัคร สส.บุรีรัมย์ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการฯ กล่าวว่า  พบข้อสงสัยต่อกรณีที่ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 หรือ ร.23 พัน.4 มทบ.26 ในขณะนั้น ได้มีการขออนุญาตจังหวัดบุรีรัมย์ขณะนั้น ในการสร้างค่ายทหารกองพันทหารราบเบา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2521 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้อนุญาตให้มีการสร้าง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2521 จนเป็น ร.23 พัน.4 ในปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาที่ตั้งของค่ายในปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับหนังสืออนุญาตการก่อสร้างที่มีการการระบุแผนที่ชัดเจน มีหลักเขตชัดเจนว่าทิศเหนือจรดที่ของการรถไฟ แต่ที่ปัจจุบันที่มีการก่อสร้างนั้นเป็นที่ที่ทิศเหนือจรดที่ของเอกชน

จึงเชื่อว่าที่ ที่กองทัพขอใช้ตั้งแต่แรกผิดที่ จนปี 2561 มีการฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองได้เรียกเอกสารต่างๆเข้ามาจึงปรากฎหลักฐานว่ามีคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับหนึ่งระหว่างผู้ซื้อที่ดินฟ้องการรถไฟ โดยผู้ซื้อที่ดินแจ้งว่าได้ซื้อที่ดินมาจาก นายชัย ชิดชอบ โดยนายชัย แจ้งว่า ซื้อมาจากราษฎร จนศาลฯได้พิพากษาให้เป็นที่ดินของ รฟท. และค่ายทหารฯ ดังกล่าว

“ทำให้เกิดความสงสัยว่าเหตุใดกองทัพจึงไม่ก่อสร้างค่ายฯในที่ดินที่ได้รับอนุญาตตั้แต่แรก เหตุเพราะมีการครอบครองที่ดินทางเหนือติดกับเขากระโดงโดยตระกูลใหญ่ตระกูลนี้หรือไม่ ทางกมธ.ฯจะได้ตรวจสอบว่าเหตุใดกองทัพถึงไม่ยอมก่อสร้างค่ายฯบนที่ดินที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่แรก และที่ไปสร้างแปลงใหม่ได้รับอนุญาตจากที่ใด” นายต่อพงษ์ กล่าว

ที่ปรึกษาประจำกมธ.ฯ กล่าวด้วยว่า ในจังหวัดบุรีรัมย์ มักมีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นอีกเยอะเช่น มีการเปลี่ยนหลักกิโลเมตรของจังหวัดมากกว่า 3 ครั้ง มีการขยับหลักหมุด หลักกิโลเมตร ของจังหวัดมากกว่า 3 ครั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใดหรือไม่ ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) กมธ.ฯก็จะสอบเรื่องนี้โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป