วันที่ 27 พ.ย.2567 นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีความพยายามตีความให้การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ สามารถจัดทำได้ 2 ครั้ง และมีการหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้บรรจุวาระพิจารณาก่อนการทำประชามติ ว่า ฐานะที่ตนเคยเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) และได้ร่วมจัดทำรายงานที่เสนอต่อรัฐสภา มองว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 11 มี.ค. 2564 ที่ระบุให้รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติก่อนว่าจะต้องการให้มีฉบับใหม่หรือไม่ และระบุว่าเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จต้องส่งให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ดังนั้นการทำตามคำวินิจฉัยจำเป็นต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นถูกกำหนดเป็นสภาพบังคับว่าต้องทำประชามติรวม 3 ครั้ง โดยไม่มีทางใดให้เลี่ยงได้ ส่วนนการเข้าพบประธานรัฐสภาของกรรมาธิการพัฒนาการเมืองนั้นไม่มีผลให้ลดจำนวนทำประชามติ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลผูกผันต่อรัฐสภา การไปเรียกร้องบังคับให้ประธานรัฐสภาบรรจุวาระให้ได้นั้น ประธานรัฐสภาอาจถูกร้องได้ว่ากระทำขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีใครรับผิดแทนประธานรัฐสภาได้” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวต่อว่า หากมีการบรรจุเนื้อหาและฝืนพิจารณา ขอให้คำนึงถึงเหตุการณ์ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2564 ที่ สว.กังวลกับการลงคะแนนเห็นชอบในวาระ3 ด้วยเกรงว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในครั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีปัญหาตั้งแต่การลงคะแนนเห็นชอบในวาระแรกชั้นรับหลักการได้ และหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256ไม่สำเร็จ ต้องกลับไปนับหนึ่งในสมัยประชุมถัดไป ทั้งที่เวลาการพิจารณาของรัฐสภาเหลือไม่มาก ภาระกิจการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่ขึ้น ให้สำเร็จ จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการประนีประนอมร่วมกัน เพราะถ้าทำขั้นตอนใดผิดพลาดล้มเหลว แทนที่จะเร็วขึ้นกลับจะกลายเป็นช้าลงไปอีกมาก เหมือนที่เป็นมาให้เห็นๆกันจนจะไม่ทันการอยู่แล้ว แม้จะมีการลดธงเป้าหมายให้เหลือเพียงแค่ให้ได้แค่ส.ส.ร.ก็ตามที