สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครบรอบ 38 ปี RINAC รัตติกาล “เปิดยุ้งฉางยามค่ำคืน”  โดยมี นายวิบูรณ์  แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธาน ลั่นฆ้องชัย เปิดยุ้งฉางยามค่ำคืน 

ยุ้งฉาง เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ยุ้งฉาง หรือที่คนอีสานเรียกว่า “เล้าข้าว” เป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกของชาวนา หลังจากชาวนาทำการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว เพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้กินเองหรือขาย และเก็บไว้เป็นพันธุ์ข้าวในการทำนาครั้งถัดไป ชาวบ้านที่เป็นชาวนาส่วนใหญ่มักจะปลูกยุ้งฉางไว้ในบ้านของตนเองทุกหลัง เพื่อสะดวกในการเก็บข้าวเปลือก เปรียบเสมือนสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม ที่อาคารมีรูปทรงของยุ้งฉาง เพื่อเก็บภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆของชาวอีสานไว้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้อง เผยแพร่ และพัฒนานวัตกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เพื่อสร้างคุณค่า มูลค่าทางวิชาการ และยกระดับมาตรฐานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม

จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและพัสดุ อาจารย์ทม  เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน นำผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกิจกรรม ชิม “อีสานค็อกเทล”  รสชาติที่หายไป เป็นอาหารอีสานที่อร่อยและหากินยากในปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูอาหารที่มีในอดีตสู่การหมุนเวียนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของชุมชน ด้วยเมนูลาบปูนา ข้าวเม่า หมี่กรอบ แซนวิชปลาแดก (เป็นเมนูการพัฒนาอาหารดั้งเดิมคือปลาร้าผสมกับอาหารสมัยใหม่คือขนมปังเพื่อให้เป็นอาหารชนิดใหม่ที่มีรสชาติผสมผสานกัน) จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  ไอติมไข่ผำ นวัตกรรมอาหารจาก อาจารย์ ดร.ศุภชัย สุทธิเจริญ จากคณะเทคโนโลยี ไวน์มันแกว เป็นนวัตกรรมอาหารจากมันแกวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมากในอำเภอบรบือจังหวัดมหาสารคาม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ จากคณะเทคโนโลยี อีสานค็อกเทล ทำจากพืชสมุนไพรที่เป็นยาจากเอกสารโบราณ ได้แก่ ฝาง และพืชสมุนไพร นำมาทำเป็นค๊อกเทลอีสานเพื่อสุขภาพ โดยคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม 

นอกจากนี้ ได้มีกิจกรรมสนุกสนาน ม่วนกับ “หมอลำกลอน” จากพ่อสงัด แก้วเรืองชมวิดีทัศน์สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมก่อนที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นำกล่าว สุนทรพจน์ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต: ยุ้งฉางแห่งภูมิปัญญา” พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและพัสดุ ดร.บุญสม  ยอดมาลี อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  และอาจารย์ทม  เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน พร้อมร่วมชมและ Workshop รับของที่ระลึก จากหอศิลป์จำปาศรี พิพิธภัณฑ์ผ้าทออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณ และผูกดวง ตรวจดวงชะตา “คลินิกโหราศาสตร์”

ทั้งนี้ ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศให้ “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็น“สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน”โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ ลงวันที่12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ จนถึงวันนี้ ในปี 2567 ครบรอบ 38 ปี