เวียนมาบรรจบครบวาระกันอีกปีแล้ว สำหรับ เทศกาล “วันขอบคุณพระเจ้า” หรือ “แทงก์สกิฟวิงเดย์ (Thanksgiving Day)” ที่มีในสัปดาห์นี้
โดยจะเป็นวันขอบคุณพระเจ้าจริงๆ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งในบางประเทศ อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ถือว่าเป็น “วันหยุดประจำชาติ” เลยทีเดียว แต่ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ประชาชนพลเมืองชาวอเมริกันก็จะเฉลิมฉลอง สนุกสนานรื่นเริงกันถ้วนหน้า หรือไม่ก็จะถือโอกาสนี้ เดินทางท่องเที่ยว ตลอดจนเยี่ยมเยียนในหมู่ญาติมิตรตามสถานที่ต่างๆ
ทั้งนี้ วันขอบคุณพระเจ้าในปีนี้ ก็จะถือเป็นครั้งสุดท้ายของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ” ที่จะได้ประกอบพิธี “ไถ่ชีวิตไก่งวง” เนื่องในเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้านี้ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ก่อนที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ออกจาก “ทำเนียบขาว” ไปในเดือนมกราคมปีหน้า
ส่วนไก่งวง จำนวน 2 ตัว ที่ได้จะรับการไถ่ชีวิตจากประธานาธิบดีไบเดนครั้งปัจฉิมบท คือ ครั้งสุดท้าย นี้ ก็มีชื่อว่า “พีช (Peach)” กับ “บลอสซัม (Blossom)” ซึ่งการประกอบพิธี ก็มีขึ้นที่ “ทำเนียบขาว” กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ นั่นเอง
ตามการประกอบพิธี ก็จะเริ่มตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ย่างเข้าสู่สัปดาห์เทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า โดยจะมีการแถลงข่าวเพื่อเปิดตัวไก่งวงทั้ง 2 ตัว ที่ได้รับการไถ่ชีวิตโดยประธานาธิบดีของประเทศ
ผู้แถลงข่าว ก็คือ “นายจอห์น ซิมเมอร์แมน” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานสหพันธ์ผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งชาติสหรัฐฯ” ซึ่งนายจอห์น ซิมเมอร์แมนผู้นี้ ก็ยังเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงในฟาร์มของเขาเองในเมืองนอร์ทฟิลด์ รัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ
ทั้งนี้ นายจอห์น ซิมเมอร์แมน เดินทางมากับ “ด.ช.แกรนท์ ซิมเมอร์แมน” บุตรชายวัย 9 ขวบของเขา ซึ่ง ด.ช.แกรนท์ผู้นี้ จะทำหน้าที่ “ประกาศชื่อไก่งวงทั้ง 2 ตัว ที่ได้รับการไถ่ชีวิตจากประธานาธิบดีไบเดนในปีนี้
โดย ด.ช.แกรนท์ ประกาศชื่อไก่งวงทั้งสองตัว โดยตัวหนึ่งให้ชื่อว่า “พีช (Peach)” และอีกตัวหนึ่งให้ชื่อว่า “บลอสซัม (Blossom)”
ภายหลังจากที่ “พีช” และ “บลอสซัม” ได้รับการไถ่ชีวิตตามพิธีกรรมแล้ว ไก่งวงทั้งสองตัว ก็จะถูกส่งไปยังฟาร์มไก่งวงแห่งหนึ่งในเมืองวาเซกา รัฐมินนิโซตา ของสหรัฐฯ เพื่อนำไปเลี้ยงดูต่อไป
ตามพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันมา คู่ไก่งวงที่ได้รับการไถ่ชีวิต จะมีการเลี้ยงดูอย่างดี ในฐานที่ไก่งวงทั้งสองตัวดำรงตำแหน่ง “ทูตทางการเกษตร (Agricultural Ambassadors)” กันอีกด้วย
เรียกว่า มิใช่ไก่งวงธรรมดาๆ แต่ยังมีตำแหน่งอีกต่างหาก
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงพิธีการไถ่ชีวิตไก่งวง ให้รอดพ้นจากการถูกทำเป็นอาหาร เนื่องในเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ในปีนี้ก็ถือเป็นปีที่ 77 แล้ว เรียกได้ว่า เป็นธรรมเนียมประเพณี ที่ดำเนินสืบทอดมาถึงกว่า 7 ทศวรรษด้วยกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงในส่วนของประชาชนชาวอเมริกัน ที่ตามธรรมเนียมประเพณีอีกเช่นกัน ก็จะถือโอกาสช่วงเทศกาลวันหยุดแห่งชาตินี้ ท่องเที่ยวไป หรือเยี่ยมเยียน ญาติสนิท มิตรสหาย ตามสถานที่ต่างๆ แต่ปรากฏว่า เทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า ในสัปดาห์นี้ ดูจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางของผู้คนสักเท่าไหร่
เมื่อปรากฏว่า สภาพอากาศ ฟ้าฝนต่างๆ ดูจะไม่เป็นใจ
ถึงขนาดที่บรรดานักอุตุนิยมวิทยา เรียกว่า “สภาพอากาศวิปริตแปรปรวนเลวร้ายอย่างสุดขั้ว” เลยทีเดียวก็ว่าได้
โดยแต่ละพื้นที่ของประเทศสหรัฐฯ เผชิญกับสภาวะอากาศอันวิปริตแปรปรวนอย่างเลวร้ายสุดขั้วข้างต้นที่แตกต่างกันออกไป
เริ่มจากพื้นที่ในกลุ่มรัฐชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ก็ประสบกับวาตภัย คือ ภัยจากพายุในรูปแบบ “ระเบิดไซโคลน” หรือ“บอมบ์ไซโคลน (Bomb Cyclone)” ถล่มพื้นที่ตอนเหนือรัฐแคลิฟอร์เนีย และลามเลยคาบเกี่ยวมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออริกอน ที่อยู่ติดกัน ซึ่งพลังของพายุได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ อิทธิพลของพายุ ก็ยังก่อให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้น้ำท่วมสูงฉับพลันตามมา ตั้งแต่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว และยังมีรายงานด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติครั้งนี้อีกด้วยอย่างน้อย 1 ราย จากการที่เขาจมน้ำไปกับรถยนต์ที่นั่งมา
ผลกระทบจากพายุที่พัดกระหน่ำ ก็ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง แถมยังดับแบบต่อเนื่องกันติดต่อกันมาหลายวันด้วยกัน
ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ดับ ก็ยังส่งผลกระทบไปถึงรัฐวอชิงตันอีกด้วย โดยประชาชนจำนวนเกือบ 2 แสนคน ต้องอยู่ในสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้
ส่วนในพื้นที่ใกล้กับเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐเนวาดา ก็ผจญกับปรากฏการณ์พายุฤดูหนาว โดยทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า พายุฤดูหนาวข้างต้น จะก่อให้เกิดหิมะตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว และคาดว่าในบางพื้นที่หิมะจะสูงถึง 1.2 เมตร หรือ 120 เซนติเมตรด้วยกัน
ขณะที่ พื้นที่ในแถบรัฐภาคกลาง และภาคเหนือของสหรัฐฯ ก็เผชิญทั้งฝนตกหนักและหิมะตกหนัก ไปตลอดทั้งสัปดาห์
ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มรัฐภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนืของประเทศ เช่น รัฐนิวยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐแมสซาชูเซตส์ ก็จะเผชิญทั้งลมกรรโชกพัดแรง ฝน และหิมะตก ไปจนตลอดทั้งสัปดาห์ช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า อันเป็นเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าครั้งสุดท้าย ก่อนที่นายไบเดน จะอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และออกจากทำเนียบขาวในเดือนมกราคมปีหน้านี้ ก็จะเป็นวาระของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะมาประกอบพิธีเนื่องในเทศกาลดังกล่าวแทน