"THG" พบรายการน่าสงสัยเพิ่มเติม 63 ล้านบาท เตรียมส่ง ก.ล.ต.เอาผิดอดีตผู้บริหาร

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.67 รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG แจ้งกับ ตลท.ว่า ยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่เคยลงทุน และไม่เคยถือหุ้นในบริษัท ธนบุรี โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท โรงพยาบาล ธนบุรี โฮลดิ้ง จำกัด แต่อย่างใด บริษัทฯ ไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนรู้เห็นใดๆในการดำเนินการหรือการออกหลักทรัพย์ใดๆทั้งสิ้น

ปัจจุบันหุ้นกู้ที่ออกโดยกลุ่มบริษัทฯ มีเพียง 2 ชุด ได้แก่

- หุ้นกู้ ชุดที่ 1 (ครั้งที่ 1/2567) บริษัทฯเป็นผู้ออก ประเภทหุ้นกู้แบบมีผู้ค้ำประกัน วงเงิน 700 ล้านบาท วันที่ออก 27 พฤษภาคม 2567 และวันครบกำหนด 28 พฤษภาคม 2570

- หุ้นกู้ ชุดที่ 2 (ครั้งที่ 1/2567) บริษัทฯเป็นผู้ออก ประเภทหุ้นกู้แบบมีผู้ค้ำประกัน วงเงิน 1,000 ล้านบาท วันที่ออก 27 พฤษภาคม 2567 และวันครบกำหนด 28 พฤษภาคม 2572

ส่วนเงินลงทุนของบริษัทฯ ในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมต่าง ๆ ได้รับการเปิดเผยไว้ในงบการเงินและรายงานประจำปีของบริษัทฯ มาโดยตลอด โดยในข้อมูลดังกล่าวไม่เคยปรากฏชื่อบริษัท ธนบุรี โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท โรงพยาบาล ธนบุรี โฮลดิ้ง จำกัด แต่อย่างใด

 

*พบรายการน่าสงสัยเพิ่มเติม 63 ลบ. เตรียมส่งก.ล.ต.

นอกจากนี้ THG ชี้แจงความคืบหน้าของรายการอันควรสงสัยที่ได้แจ้งไว้ว่า ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 105,000,000 บาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) บริษัทฯ แจ้งว่า บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) (ครอบครัววนาสินถือหุ้น 40%) ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากรายการอันควรสงสัย ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับบริษัทฯ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 112,798,907 บาท (รวมดอกเบี้ย ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้)

บริษัทฯ จะใช้หนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องให้ RTD ชำระเงินให้แก่บริษัทฯ โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับ RTD ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และกับอดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการทำรายการอันควรสงสัย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น

ส่วนการตรวจพบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติม บริษัทฯ พบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งรายการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2566 รายการอันควรสงสัยดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการเงินแก่บริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าความเสียหายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือความสามารถในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสำคัญในช่วงปี 2566 - 2567 ที่ผ่านมาอย่างรอบคอบ และมีความเห็นว่านอกเหนือจากรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้ว ไม่มีรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมใดๆของบริษัทฯ และบริษัทย่อยที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย หรือพิจารณาเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น บริษัทฯ จะดำเนินการแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และดำเนินการทางกฎหมายต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดรายการอันควรสงสัยดังกล่าว เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯและผู้ถือหุ้น

 

*ตั้งสำรองรายการน่าสงสัย 172 ลบ.ใน Q3/67 แล้ว

ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมดนั้น บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีโดยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนในงบการเงินรวม สำหรับไตรมาสที่ 3/67 แล้ว เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 172 ล้านบาท ทั้งนี้ การตั้งสารองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบการเงินรวมของบริษัทฯ สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมดนั้น มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ในอดีตทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดรัดกุมในการอนุมัติรายการ รวมถึงรายการที่เกี่ยวโยงกัน และเพิ่มการตรวจสอบภายในให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้มีการรายงานจากบริษัทย่อยอย่างสม่าเสมอ เพื่อยกระดับมาตรฐานการกากับดูแลของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และป้องกันไม่ให้เกิดรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมในอนาคต

 

*ดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหาร-พนักงานให้ชดใช้ความเสียหาย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุดต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับรายการดังกล่าว เพื่อแสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนของบริษัทฯ ในการไม่ยอมรับพฤติกรรมหรือการปฏิบัติใดๆที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และ/หรือระเบียบภายในที่บริษัทฯ กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังจะดำเนินการทางกฎหมายกับอดีตผู้บริหารและพนักงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทฯ และบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น

รายการอันควรสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ แต่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียต่อกลุ่มบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวังและสอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป) กลุ่มบริษัทฯ ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามปกติ และไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานตามปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และเพื่อแก้ไขข้อกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินที่กำลังพิจารณารวมถึง การพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพื่อเสริมสร้างฐานะทางการเงินและรองรับการดำเนินงานในอนาคต และการพิจารณาจัดการหรือจำหน่ายสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ

#THG #ข่าววันนี้ #ตลาดหลักทรัพย์ #กลต #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์