วันที่ 25 พ.ย. พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการฯ ดร.จำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายกิติศักดิ์ หมื่นศรี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 3 และคณะกรรมาธิการ ได้เข้าหาพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นการเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ผช.รมต.ประจำกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษา คณะทำงาน รมว.มหาดไทย และคณะทำงาน รมช.มท. ร่วมประชุมด้วย

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาๆ กล่าวว่า ได้นำเสนอ 5 แนวทางป้องกันน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาซึ่งคณะกรรมมาธิการให้ความสำคัญพิจารณาศึกษาเป็นเรื่องแรกหลังจากได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา โดยเป็นการศึกษาร่วมกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาหลายหน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องศึกษาประเด็นสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ในการศึกษามุ่งเน้นหาสาเหตุในเชิงวิชาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานนำไปสู่การจัดทำแผนงานป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุและรองรับเตรียมการสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีก และอาจจะมีความรุนแรงมากกว่าเดิม

“จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสาเหตุหลักๆเกิดจากปริมาณฝนที่เกิดจากพายุที่เคลื่อนตัวผ่านภาคเหนือของประเทศและทำให้มีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ติดต่อกันหลายชั่วโมงซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเกินความสามารถที่พื้นที่ต้นน้ำลำธารจะรับได้ น้ำจะไหลบ่ากัดเซาะพาดินโคลน เศษไม้ปลายไม้จำนวนมากไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่างซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ทำกินของพี่น้องประชาชนจนทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก ในหลายพื้นที่”

ประธานกมธ.ทรัพยากรฯ กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมาธิการๆ ศึกษาพบว่าสาเหตุหลักอีกประการมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารในภาคเหนือ เป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดียวอย่างอื่น ซึ่งโดยปกติคุณภาพการกักเก็บน้ำของป่าต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์จะทำหน้าที่กักเก็บปริมาณน้ำฝนไว้และชลอการปล่อยน้ำออกมาตามธรรมชาติเป็นวัฎจักร แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก และ สภาพป่าต้นน้ำลำธารเปลี่ยนแปลงลดลงทำให้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ไหลบ่าเข้าท่วมเขตชุมชนเมืองหลายที่เกินการคาดการณ์ ซึ่งจำเป็นต้องมี การฟื้นฟูป่าไม้เพื่อป้องกันดินถล่ม และต้องดูแลป่าต้นน้ำลำธารที่คงสภาพให้ดีที่สุด ในส่วนของการจัดการพื้นที่ลาดชันป้องกันด้วยแนวคันดินและเกเบี้ยน (Gabion boxes) การควบคุมการการไหลบ่าของดินโคลนในแต่ละชุมชนสามารถออกแบบดำเนินการได้ตามหลักวิชาการ และวิศวะกรรม  ซึ่งสามารถดำเนินการได้

“ส่วนการพัฒนาในพื้นที่เสี่ยงต้องผ่านการปรับปรุงผังเมืองและบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน และองค์กรต่างๆ รวมถึงการวางแผนเชิงลึก เช่น ระบบเตือนภัยและการช่วยเหลือในระยะยาว แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำป่าและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน” 

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล เผยว่า กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ให้ความสำคัญกับปัญหานี้และกำลังดำเนินการตามแนวทางที่เสนออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งรัดการทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม

"ผลการศึกษาของ กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประโยชน์แก่กระทรวงมหาดไทยในการนำไปพัฒนาการดำเนินการบริหารจัดการสาธารณภัย ทั้งมิติป้องกันและแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งหากกรณีใดที่มีการละเมิดกฎหมาย ก็ได้สั่งการให้หน่วยที่รับผิดชอบดำเนินการในทันที และร่วมกันวางแผนเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน"