“รัฐบาล” เดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 68 ตรวจสอบนอมินีนิติบุคคล 26,830 ราย โฟกัสธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ต โลจิสติกส์ ขายออนไลน์ และคลังสินค้าในทุกจังหวัด

วันนี้ (25 พ.ย. 67) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหา อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รายงานผลการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ประจำปี 2567 จำนวน 26,019 ราย ใน 4 ธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง และได้คัดกรองตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหลือ 498 ราย โดยใน 498 ราย ได้ยุติเรื่องไปแล้ว 371 ราย เพราะไม่พบความเสี่ยง ส่วนอีก 64 ราย ได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดเกี่ยวกับบัญชี ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อให้กรมสรรพากรดำเนินการแล้ว และอยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 63 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 ราย ที่ต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นนอมินี อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจะส่งต่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขยายผลการตรวจสอบต่อไป

 

สำหรับแผนการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในปี 2568 มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคลจำนวน 26,830 ราย ซึ่งจะเน้นในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต โลจิสติกส์และการขนส่ง แพลตฟอร์มออนไลน์ และคลังสินค้า เป็นต้น โดยพุ่งเป้าในทุกจังหวัด ตามที่ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน ภาคธุรกิจ หรือมีข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวมาแอบอ้างใช้คนไทยเป็นนอมินี และทำธุรกิจที่สงวนไว้ให้กับคนไทย

 

“เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคลที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (Intelligence Business Analytic System หรือ IBAS) ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์นิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นนอมินี โดยจะมีโจทย์ใส่เข้าไปในระบบ เช่น ชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยง ที่ได้รับจากหน่วยงานพันธมิตร หรือชื่อบุคคลที่ต้องจับตา อย่างคน ๆ เดียว แต่มีชื่อในหลายบริษัท หรือศักยภาพในการทำธุรกิจ โดยคาดว่าจะทำเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะนำมาใช้ตรวจวิเคราะห์นิติบุคคลที่เสี่ยงเป็นนอมินีได้ดีขึ้น สำหรับประชาชน และผู้ประกอบการ SME ที่มีข้อมูล หรือได้รับผลกระทบจากการแอบแฝงเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างด้าว ในธุรกิจต่าง ๆ สามารถแจ้งข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองทะเบียนธุรกิจ ชั้น 9 เลขที่ 563 ถนน นนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร : 02 528 7600 หรือ Call Center 1570 และทางwww.dbd.go.th.” นางสาวศศิกานต์ กล่าว