ชป.บริหารจัดการน้ำตามแผนฯ ย้ำน้ำใช้การมากกว่าปีที่ผ่านมา เพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้  

วันที่ 25 พ.ย.67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์  สุตสุนทร  ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ปัจจุบัน (25 พ.ย.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,427 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,485 ล้าน ลบ.ม.  มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1,982 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา  4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 22,024 ล้าน ลบ.ม. (89% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 15,328 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง  มีการปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบน ช่วยลดภาระด้านท้ายน้ำ และยังช่วยให้การระบายน้ำที่ค้างอยู่ในทุ่งจากช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา ทำได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ไป Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี และทุ่งผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ให้เกษตรกรได้กลับมาเพาะปลูกได้ตามแผนการเพาะปลูกและช่วยชดเชยรายได้จากช่วงฤดูน้ำหลากให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันทุ่งโพธิ์พระยายังคงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องระบายอยู่อีกประมาณ 12 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถระบายน้ำให้เหลืออยู่ในอัตราที่กำหนดภายในเดือนหน้า  ส่วนในพื้นที่ทุ่งผักไห่ยังคงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องระบายอยู่อีกประมาณ 65 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถระบายน้ำให้เหลืออยู่ในอัตราที่กำหนดได้ภายในเดือนนี้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 67 ภาคใต้ตอนล่างจะมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนสะสม ที่จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนการบริการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่  รวมทั้งปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด    ส่วนในพื้นที่ตอนบนที่ปริมาณฝนลดลงแล้ว ให้ปฏิบัติตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กำหนด แม้ว่าในปีนี้ปริมาณน้ำเก็บกักจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพ  เพื่อให้มีน้ำใช้สำหรับทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ รวมทั้งสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้าได้อย่างเพียงพอด้วย