หนี้ครัวเรือน Q2/67 ต่ำ 90% จับตาแบงก์เข้มปล่อยกู้-หนี้นอกระบบพุ่ง-ว่างงานเพิ่มเล็กน้อย

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3/67 สำหรับหนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส 2/67) มีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% โดยชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% โดยหนี้สินครัวเรือนเกือบทุกประเภทมีการปรับตัวชะลอลงหรือหดตัว ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการมีภาระหนี้ที่สูง ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด มีการหดตัวเป็นครั้งแรก ขณะที่ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์

สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1.แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภค-บริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้ หรือไม่มีวินัยทางการเงินจะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ 2.ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว

3.แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ของครัวเรือนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว และสถานะทางการเงินยังตึงตัว จากการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้านก่อนสินเชื่อประเภทอื่น แม้ว่าบ้านจะถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น 4.ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งภาครัฐอาจต้องติดตามการเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงต้องเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อให้รายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวโดยเร็ว

โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงมาต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวขึ้น ดังนั้นถ้าสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนให้ชะลอตัวลงเรื่อยๆจะทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเฉพาะหนี้สำคัญๆ ทั้งเรื่องความมั่นคงในชีวิตของคน อย่างหนี้บ้าน และที่ใช้ในการทำมาหากิน อย่างหนี้รถ หรือหนี้ธุรกิจ

สำหรับรายละเอียดเรื่องมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ต้องรอฟังจากการแถลง เพราะเรื่องนี้ผูกพันกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งแน่นอนว่าการลดเงินนำส่ง จะทำให้หนี้ FIDF ใช้เวลานานขึ้นในการใช้หนี้ให้หมด แต่ประเด็นสำคัญ คือเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่ มาใช้โดยไม่ให้เกิดภาระกับงบประมาณที่มีข้อจำกัดอยู่ ช่วงที่ผ่านมาสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คุยกันเพื่อดูรูปแบบ และดูมาตรการโดยละเอียด ดังนั้นขอให้รอดูรูปแบบและรายละเอียดมาตรการอีกครั้ง ส่วนช่วงเวลาที่จะเริ่มโครงการถ้าคุยกันเรียบร้อยแล้วทั้งหมดคงจะเริ่มให้เร็ว ส่วนหนี้จะลดลงมากน้อยเท่าไรนั้น เนื่องจากหนี้เป็นก้อน และมีความหลากหลายในการใช้หนี้ ดังนั้นในระยะยาวจะทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลงได้ แต่จะลงเร็วแค่ไหนอยู่ที่ปริมาณคนที่เข้ามาในโครงการ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก็พยายามทำออกมาเพื่อให้ลดหนี้ให้ได้มากที่สุด และต้องมีการติดตามด้วยว่าจะลดได้มากน้อยเท่าไร ประเด็นหลักคือ พยายามแก้ปัญหาโดยเฉพาะบ้าน และรถให้ลดลงได้มากที่สุด

ส่วนมาตรการในการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่แก้หนี้สำเร็จแล้วกลับมาเป็นหนี้รอบใหม่นั้น ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ ซึ่งจะมีมาตรการและเงื่อนไขว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้เรื้อรัง โดยมองว่า เป็นเรื่องวินัยการเงินของลูกหนี้เอง ซึ่งการช่วยเหลือรอบนี้เป็นการช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้หลุดพ้นออกมา และมีวินัยการเงินเพียงพอที่จะคิดก่อนจะก่อหนี้ใหม่ ถ้าหลังจากนี้ไปแล้ว มีการเปลี่ยนแนวคิด หรือ Ecosystem ในการทำให้คนเป็นหนี้ยังง่ายอยู่เหมือนในปัจจุบันก็คงจะเป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ไข เรื่องวินัยการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญจริงๆที่ต้องคิดก่อนเป็นหนี้ ขณะเดียวกันมาตรการของ ธปท.ที่ออกมา เรื่องแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะกำกับไม่ให้คนที่ขาดความพร้อมในการเป็นหนี้มาก่อหนี้เพิ่ม

ขณะที่ สถานการณ์แรงงานในไตรมาส 3/67 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ 0.1% จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์อุทกภัย ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ที่ 1.4% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าขยายตัวได้มากที่สุด 14% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ 6.1% ขณะที่สาขาการผลิตหดตัว 1.4% โดยเฉพาะในการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์

สำหรับชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องการทำงานเพิ่ม โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 43.3 และ 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามลำดับ โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 3.8% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลง 32.9% และผู้ทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้น 15% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 1.02% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1.การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิม ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งการเลิกจ้าง การลด OT ตลอดจนการใช้มาตรา 75 การสมัครใจลาออก และการเกษียณก่อนกำหนด 2.การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และอาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว

3.ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัย ที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางปี 67 ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรตรวจสอบ และควบคุมราคาไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยน้ำท่วม

#ดนุชาพิชยนันท์ #หนี้ครัวเรือน #ข่าววันนี้ #ธปท #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #สภาพัฒน์