“สนธิ” ระบุสถานการณ์การเมืองไทยใกล้สุกงอม ประกาศพร้อมลงถนนครั้งสุดท้ายในชีวิต ยินดียื่นคำร้องเจรจา “นายกฯอิ๊งค์”ต้องตอบทุกคำถาม “นิด้าโพล”เผยผลสำรวจคนส่วนใหญ่มองวิวาทะ”พรรคประชาชน-เพื่อไทย”เป็นแค่ละครการเมืองฉากหนึ่ง “วิสุทธิ์”รับฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิลนักร้องแล้ว
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.67 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการและเจ้าของรายการสนธิทอล์ค กล่าวและให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงการประกาศทิศทางทางการเมือง ในการจัดงาน “ความจริง มีหนึ่งเดียว เพื่อชาติ” ครั้งที่ 4 ว่า หลักๆ แล้วผู้ปราศรัยแต่ละคนจะมีประเด็นที่พูดถึงสังคมและชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียอธิปไตยของชาติ MOU 44 กฎหมายใหม่ ข้อตกลงใหม่ของ WHO องค์การอนามัยโลก จะเป็นผลร้ายต่อประเทศอย่างไร และส่วนตัวจะเป็นคนพูดสรุปปิดท้าย พยายามชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่จำเป็นว่าจะเป็นรัฐบาลการเมืองหรือรัฐบาลทหาร ยังมีปัญหาที่คนไทยทุกคนต้องทนกับมันมาตลอด โดยไม่มีใครเข้ามาแก้ไข กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวทุกอย่าง
ยกตัวอย่างเช่นกรณีทนายตั้มการฉ้อโกงที่มีมากอย่างผิดปกติ เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่จบ เรื่องเขากระโดง ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ทำให้คนไทยช้ำใจที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่อธิบดีกรมที่ดินออกมาแถลงว่าไม่ใช่ จึงจะชี้ให้ประชาชนเห็นทุกอย่าง วันนี้คือประเทศไทยที่เราอยู่มา และตั้งคำถามถามว่าเราอยากจะอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปหรือต้องหาวิธีคิดที่จะทำอะไร เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะทุกวันนี้นักการเมืองไม่ได้สนใจอะไร การเมืองประชาธิปไตยในบ้านเรา สามารถตั้งพรรคการเมืองกันได้ง่าย ไม่พอใจไปตั้งพรรคซึ่งไม่ใช่การเมืองที่สร้างสรรค์และคนที่เข้ามาในการเมืองแต่ละคนไม่เหมือนต่างชาติ ระบอบการเมืองไทยเปิดโอกาสให้โจรคนสีเทา คนมีเงินเข้ามาเล่นการเมือง และเมื่อมีอำนาจทางการเมืองก็จะเกิดเหตุอย่างเช่นเขากระโดง
นายสนธิ กล่าวว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทยฟาดฟันพรรคภูมิใจไทยเรื่องเขากระโดง เพราะต้องการเกิดการต่อรองเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งการเมืองมีอยู่แค่นี้ มีแต่ความเลวทราม และตนจะพูดถึงชั้น 14 ด้วยว่าเป็นไปได้อย่างไร ถือเป็นการขยี้กระบวนการยุติธรรมไทย ตนคิดว่าถึงเวลาต้องรวบรวมกลุ่มคนที่เห็นด้วยหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไทยหรือนักการเมืองเลวๆ ได้รับรู้
ส่วนการรวบรวมคนจะมีม็อบหรือไม่นั้น ตนไม่รู้ ต้องวัดไปตามสถานการณ์ อย่าตั้งคำถามว่าจะให้ตนออกถนนหรือเปล่า เพราะไม่รู้ ตนไม่อยากลง แต่ถ้าจำเป็น เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตก็จะทำ ซึ่งตอนนี้เริ่มร้อนแรงแล้ว อาจต้องรอให้เดือดกว่านี้อีกนิดหน่อย และคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้สำหรับประชาชนอย่างตนใกล้สุกงอมแล้ว แต่สำหรับนักการเมือง พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ดูรายงาน สว.สีน้ำเงิน ไม่มีใครแตกถ้านักการเมืองคุมส.ส. สว. ได้ แล้วประเทศไทยจะเหลืออะไร
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าพร้อมคุยกับนายสนธิและทุกฝ่ายนั้น นายสนธิ กล่าวว่า ได้เตรียมตัวแล้ว โดยจะรวบรวมเรียบเรียงคำร้องเรียนที่จะพูดในวันนี้ เพื่อจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี จะยื่นรายละเอียดให้ดู และจะถามคำตอบอย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ซึ่งทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง "พรรคประชาชนเปิดหน้าชนพรรคเพื่อไทย" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในปัจจุบันระหว่างพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิวาทะระหว่างพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านสื่อในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 45.27 ระบุว่า เป็นแค่ละครทางการเมืองฉากหนึ่ง เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ร้อยละ 29.16 ระบุว่า เป็นแค่ความพยายามที่จะเพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น ร้อยละ 17.10 ระบุว่า เป็นเรื่องจริงจังว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกันแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ร้อยละ 8.47 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนคำถามถึงความเป็นไปได้ที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 32.37 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 17.71 ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ ร้อยละ 13.20 ระบุว่า เป็นไปได้มาก
ด้านความเชื่อที่ว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่สามารถต่อสู้กับพรรคประชาชนได้ พบว่า ร้อยละ 27.86 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 25.88 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 23.89 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความเป็นไปได้ต่อคำกล่าวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ สส. เกิน 200 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ร้อยละ 34.20 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 27.25 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 24.58 ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ ร้อยละ 12.29 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ในท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นต่อบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง (เช่น นายทักษิณ ชินวัตร, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธวัช ตุลาธน) ขึ้นเวทีหาเสียงในฐานะผู้ช่วยหาเสียง พบว่า ร้อยละ 46.49 ระบุว่า ไม่เป็นไรเพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม ร้อยละ 22.75 ระบุว่า ถึงกฎหมายไม่ห้ามก็ไม่สมควรขึ้นเวทีหาเสียง ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ควรแก้กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองขึ้นเวทีหาเสียง ร้อยละ 12.29 ระบุว่า ควรแก้กฎหมายยกเลิกการตัดสิทธิทางการเมือง ร้อยละ 4.12 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้ใหญ่หลายคนในพรรคแล้ว ทราบว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ร่างคำฟ้องแล้ว เชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากล้มล้างการปกครองเป็นข้อหารุนแรง เป็นการใส่ร้ายที่หนักหนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ยืนยันว่ายังไงก็ต้องฟ้อง ให้อภัยไม่ได้
ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ต้องใจกว้าง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองแล้ว มีแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนออกมาแสดงท่าทีเอาคืน เช่นนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค และผู้ใหญ่ในพรรคหลายคน เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ยื่นคำร้องกล่าวหาพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองแล้ว
ตอนนี้มีความคืบหน้าให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำร่างคำฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่า จะใช้เวลาไม่นานในการยื่นฟ้อง เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและเป็นการใส่ร้ายที่หนักหนา จึงไม่สามารถให้อภัยได้นั้น
ผมเห็นว่าการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เป็นการกระทำตามสิทธิ์ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด เป็นช่องทางและเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ให้สามารถทำได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็ยกคำร้องไปตามกระบวนการพิจารณา
การที่แกนนำพรรคเพื่อไทยจะฟ้องกลับผู้ร้องถือว่าเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของประชาชน ในการตรวจสอบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคเป็นองค์กรทางการเมือง ที่ประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้
พรรคเพื่อไทยควรจะใจกว้างมากกว่านี้ ไม่ใช่ผูกใจเจ็บและปิดปากประชาชน ไม่ให้มีการตรวจสอบ ถือว่าเป็นการรังแกประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน แต่เมื่อผลการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคุณต่อพรรคเพื่อไทย ก็พยายามนำผลของการวินิจฉัยมาเอาคืนประชาชน ที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
ขอฝากให้นายทักษิณ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองของประชาชน ได้ทบทวนท่าที การเปิดศึกกับประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการตรวจสอบพรรคการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย