"รัฐบาล"ฝากลูกหลานช่วยย้ำเตือนญาติผู้สูงอายุที่มีสิทธิ”เงินดิจิทัล”กลุ่มตกหล่นกว่า 4 หมื่นคน ให้รีบทำพร้อมเพย์รับโอนเงิน 1 หมื่น เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ระบุปิดโอน 19 ธ.ค. ด้าน “สวนดุสิตโพล”เผยผลสำรวจ”รัฐบาลแพทองธาร’กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่บอกยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น กังวลอาจก่อภาระหนี้สาธารณะ
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภาพรวมการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในรอบจ่ายซ้ำ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ได้มีการโอนเงินไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 73,967 ราย แบ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 59,568 ราย และผู้พิการ 14,399 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวโอนสำเร็จไปแล้วจำนวน 30,268 ราย และโอนไม่สำเร็จอีก 43,699 ราย แบ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 39,399 ราย และผู้พิการอีก 4,300 ราย
สาเหตุหลักของการโอนเงินไม่สำเร็จนั้น ส่วนใหญ่เกิดจาก 1.ผู้มีสิทธิยังไม่ผูกบัญชีกับระบบพร้อมเพย์มีจำนวน 40,157 ราย 2.รองลงมาคือบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ ไม่มีความเคลื่อนไหวในบัญชี จนทำให้ธนาคารปิดบัญชีไป 3.กลุ่มไม่มีบัญชีธนาคาร 4.เลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง 5.บัญชีธนาคารติดเงื่อนไขอื่น ๆ
"ขอฝากลูกหลานที่พอมีความรู้เรื่องการเปิดบัญชีพร้อมเพย์หรือตรวจสอบบัญชีของญาติผู้ใหญ่ และคนในครอบครัว ขอให้สอบถามคนในครอบครัวหรือญาติผู้ใหญ่ที่มีสิทธิว่าได้ดำเนินการแล้วหรือยัง ทั้งผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการขอให้ดำเนินการเร่งผูกบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน ภายในวันที่ 16 ธ.ค.67 ส่วนผู้พิการที่บัตรประจำตัวผู้พิการหมดอายุหรือสูญหายขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ธ.ค.67 เพื่อให้ทันต่อรอบการจ่ายซ้ำครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 ธ.ค.67 ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และหากพ้นกำหนดครั้งที่ 3 แล้ว ทางกรมบัญชีกลางโดยกระทรวงการคลังจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มผู้มีสิทธิและถือว่ากลุ่มผู้มีสิทธิไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการดังกล่าว"
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "รัฐบาลแพทองธาร กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,227 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย.67 สรุปผลได้ ดังนี้ 1.ประชาชนคิดอย่างไรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร อันดับ 1 กังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะ 54.80% อันดับ 2 มาตรการยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม 49.63% อันดับ 3 มาตรการบางส่วนดี แต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน 44.95%
2.ประชาชนพึงพอใจมาตรการใดมากที่สุด อันดับ 1 ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นถ้วนหน้า 55.78% อันดับ 2 แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 เฟส 2 50.13% อันดับ 3 ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 44.31% 3.ประชาชนเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารหรือไม่ อันดับ 1 เชื่อมั่น 53.87% อันดับ 2 ไม่ค่อยเชื่อมั่น 46.13%
4.ประชาชนคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ช่วยได้บ้าง 43.44% อันดับ 2 ช่วยไม่ได้ 31.13% อันดับ 3 ช่วยได้มาก 25.43% 5.ประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเมื่อใด อันดับ 1 ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้น 45.31% อันดับ 2 ครึ่งปีหลัง ปี 2568 23.63% อันดับ 3 ปี 2569 เป็นต้นไป 17.36%
6.ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือเรื่องใดมากที่สุด อันดับ 1 ลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้า 60.98% อันดับ 2 เพิ่มมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ 54.67% อันดับ 3 ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชนให้เติบโต 52.62%
น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนความเห็นที่แตกต่างกันในสังคมต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะเชื่อมั่นแต่ก็ยังไม่แน่ใจในนโยบายเฉพาะหน้า และมีความกังวลต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ด้านมุมมองต่อสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เรียกว่า “ชอบเงินหมื่นแต่ไม่รู้เศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไหร่” ทั้งนี้ต้องการให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเรื่องปากท้องโดยเร่งด่วน
ส่วน ดร.งามประวัณ เอ้สมนึก อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง อธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากผลโพล แม้ว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารในภาพรวม แต่ประชาชนยังมีความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพและการควบคุมราคาสินค้าในปัจจุบัน และต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนมากที่สุด การที่รัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 ไปแล้วนั้น แต่บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยก็ยังไม่กลับมาคึกคักมากนัก ทำให้ประชาชนคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 อาจจะพอช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างเท่านั้น และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น อีกทั้งประชาชนยังมีความกังวลว่าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่งมีความเห็นชอบ 5 แผนขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว โดยมุ่งหวังให้มีการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้สิน และกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ตรงจุดตรงประเด็นหรือไม่เพียงใดคงต้องรอดูกันต่อไป