ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง
คำว่า “อาชีพ” กับ “วิชาชีพ” เป็นถ้อยคำที่อาจจะได้ยินจากการเรียกขานกันมา และสื่อความหมายไปในทางที่ว่าเป็นการทำมาหากินหรือประกอบอาชีพด้วยกันทั้งสองคำ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคำดังกล่าวก็ยังมีความหมายแตกต่างกันไปในแง่ของความเป็นมาและบทบาทในทางปฏิบัติ
อาชีพ นั้นเป็นเรื่องของการทำมาหากินโดยทั่วไป เช่น รับจ้าง ค้าขาย เกษตรกรรม และอื่น ๆ ส่วนวิชาชีพนั้นจะมุ่งหมายไปในลักษณะของอาชีพพิเศษ เช่น แพทย์ วิศวกร พยาบาล นักกฎหมาย ครู อาจารย์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง วิชาชีพ กับ อาชีพ โดยอาจเปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่า อาชีพ นั้นเป็นการเรียนรู้ ศึกษาโดยการดูตามตัวอย่างและอาศัยการบอกเล่าหรือครูพักลักจำ ก็สามารถที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ ส่วนกรณีของวิชาชีพนั้นเป็นเรื่องของการศึกษาเรียนรู้ ให้มีความเชี่ยวชาญ ชำนิชำนาญในสาขาวิชาความรู้ที่เรียน มีการเสริมสร้างคุณธรรมพื้นฐานทางด้านจิตใจ ให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มิให้ใช้วิชาชีพในทางที่ผิด มีองค์กรในการควบคุมดูแลและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
วิชาชีพนักกฎหมายก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการอบรมบ่มเพาะให้เป็นผู้ที่มีจิตใจรักความยุติธรรม ผดุงความเป็นธรรมในสังคม มีส่วนอำนวยให้เกิดความสงบร่มเย็นในสังคม สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข นักกฎหมายจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น เพราะเป็นผู้แก้ไขเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางอรรถคดีของประชาชนทั่วไป หากนักกฎหมายทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม ในทางตรงกันข้ามหากนักกฎหมายใช้กฎหมายไปในทางที่เอารัดเอาเปรียบผู้คน ใช้กฎหมายสร้างความเดือดร้อนในสังคม ใช้กฎหมายในทางที่ผิด ผลที่เกิดขึ้นก็จะกระทบต่อสังคมส่วนรวมเป็นอย่างมาก
ในการสร้างนักกฎหมายนั้น นอกจากการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของความรู้ทางกฎหมายแล้ว ก็จะมีการเน้นเกี่ยวกับการเป็นนักกฎหมายที่ดี อำนวยความยุติธรรมให้เกิดในสังคม โดยอาจจะเป็นการให้การศึกษาในเรื่องหลักวิชาชีพทางกฎหมาย หรือการสอดแทรกคุณธรรมในการเป็นนักกฎหมายที่ดีตั้งแต่ในชั้นศึกษากฎหมาย นอกจากนี้แล้วเมื่อมีการแยกสายไปประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ทางด้านกฎหมาย ก็จะมีการอบรมเน้นหนักด้านของจริยธรรม ตลอดจนมีองค์กรในการควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง
ในแง่ของวิชาชีพทนายความก็เช่นเดียวกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วก็ต้องมีการศึกษาอบรม ผ่านการสอบเพื่อรับใบอนุญาตหรือตั๋วทนาย หลังจากนั้นจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ โดยมีสภาทนายความเป็นองค์กรควบคุมดูแลในด้านของจริยธรรมวิชาชีพหรือมรรยาททนายความ
อย่างไรก็ตาม การปลูกฝังด้านจริยธรรม การยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจะมีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานแห่งจิตสำนึกอันดีงามของนักกฎหมายแต่ละคน หากไม่ศรัทธา เชื่อมั่นในวิชาชีพนักกฎหมาย ก็อาจจะมีการเบี่ยงเบนใช้วิชาชีพกฎหมายไปในทางที่ผิดและสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้เกิดแก่สังคม ซึ่งก็กลายเป็นภาระของสังคมหรือประชาชนที่จะต้องช่วยกันจับจ้องมองดูและกล่าวอ้างถึงความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ดังกล่าว
สังคมปัจจุบันซึ่งเป็นสังคมของยุคของสังคมการตรวจสอบจำเป็นจะต้องร่วมมือกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและตีแผ่ความไม่ดีไม่งามออกมา เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
แม้ว่าการศึกษากฎหมายนั้นในปัจจุบันมีช่องทางหรือโอกาสเปิดกว้างสำหรับทุกคนโดยมุ่งหวังให้สังคมเต็มไปด้วยการตระหนักรับรู้ในกติกาและสิทธิประโยชน์ของบุคคลในสังคมได้ จนอาจกล่าวได้ว่าคนดี คนชั่วก็สามารถเรียนกฎหมายได้
อย่างไรก็ตามในแง่ของคนไม่ดีหรือคนที่เป็นโจรผู้ร้ายหากมาศึกษากฎหมายก็เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้คดีหรือป้องกันตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องตามปกติธรรมชาติของวิสัยมนุษย์ แต่คนปกติทั่วไปที่ตั้งใจมาเรียนกฎหมายและมุ่งหวังที่จะใช้กฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนโดยไม่นึกถึงความเดือดร้อนหรือผลกระทบที่เกิดแก่สังคมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัยและดูจะเลวกว่าคนที่เป็นโจรเสียอีก เรื่องของหลักวิชาชีพกฎหมาย จริยธรรมนักกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อให้ความเชื่อถือศรัทธาในนักกฎหมายยังคงอยู่และเป็นที่พึงของสังคมได้ตลอดไป