“นฤมล” ร่วมประชุมรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกาศไทยพร้อมร่วมมือพัฒนาระบบเกษตรและอาหาร ตั้งเป้าสร้างความเท่าเทียมให้เกษตรกรรายย่อย

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 พร้อมด้วย นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวไปรยา เศวตจินดา ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำนครกว่างโจว และผู้แทนสำนักการเกษตรต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย ตั้งแต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ระบบอาหารที่ยั่งยืนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อบรรลุความท้าทายนี้ระบบอาหารโลกจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน โดยมีการดำเนินการที่ประสานงานกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ประเทศไทยมีนโยบายรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยยึดหลักการขับเคลื่อนด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยใช้โมเดลกล่าวสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green)  ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรและอาหารจะช่วยให้ภาคการเกษตรปรับตัวเข้ากับความท้าทายได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมการพัฒนาการเติบโตที่ครอบคลุมโดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย สตรี เยาวชน และกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ เข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในด้านห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคสัตว์ การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามพรมแดน การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ เกษตรอัจฉริยะอัจฉริยะ  เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงโครงการหมอดินอาสาสมัคร ซึ่งประเทศไทยสามารถสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ในนามประเทศไทย รัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้ GMS 2030 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับประเทศสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และมุ่งหวังการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในอนุภูมิภาค ทั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของ GMS ที่รัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้ร่วมกันรับรองกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิง เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรและอาหารในอนุภูมิภาค