หมายเหตุ : “ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา”  คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”  ทางช่องยูทูบ Siamrathonline ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567  วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ในฐานะ “ผู้ช่วยหาเสียง” ให้กับพรรคเพื่อไทย ในสนามการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ เก็บตัวเงียบมาตลอด การขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ ครั้งแรกในรอบ 18 ปี ครั้งนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมาก 

- การขึ้นเวทีปราศรัย ครั้งแรกในรอบ 18ปีของคุณทักษิณ ที่สนามเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 13-14 พ.ย.67 ที่ผ่านมา มีสัญญาณทางการเมืองอะไรที่น่าสนใจ

แม้จะเป็นการเมืองสนามท้องถิ่นก็ตาม  การเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี  ถือเป็นเมืองหลวงของขบวนการคนรักทักษิณ จนมีการต่อยอดมาสู่ขบวนการคนเสื้อแดง หรือนปช.ที่เรารู้จักกันดี เมื่อดูจากคะแนนนิยมต่อตัวคุณทักษิณ ที่สะท้อนออกมาจะเห็นได้ว่ายังมีสูงอยู่ ในหลายยุค หลายสมัยที่ผ่านมา  แม้ในการเลือกตั้งสส.เมื่อปี 2566 พบว่าพรรคเพื่อไทย แพ้ไป 3-4 เขตเลือกตั้ง แต่ก็ต้องถือว่าระบบทักษิณและพรรคเพื่อไทย ก็กระทบไม่น้อยทีเดียว

ฉะนั้นการกลับไปสนามเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ครั้งนี้ของคุณทักษิณ จึงมีนัยยะมากกว่าการเลือกตั้งนายกอบจ.แน่นอน  มีความหมายตั้งแต่การกลับไปฟื้นฟูความนิยมใน 4 เขต ไปฟื้นฟูความเชื่อมั่นของรัฐบาลด้วย และที่สำคัญ ผมคิดว่าคือการไปปักธงการเลือกตั้งที่จะเป็นเหมือนโดมิโน ที่คุณทักษิณ พยายามสร้างให้ไปจนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า 2568 ด้วย

สมมติว่าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.อบจ. ที่อุดรธานี จะลามไปท้องถิ่นใหญ่ด้วย ก็อาจจะกลายเป็นจังหวะที่รัฐบาลอาจจะปักหมุดในการยุบสภาฯ ในต้นปีหน้า 2568 ก็ได้

-จังหวะที่จะมีการตัดสินใจยุบสภาฯ หรือไปต่อ หมายความว่าพรรคเพื่อไทยต้องมองเห็นถึงความได้เปรียบในทางการเมืองแล้วใช่หรือไม่

ความจริงแล้ว ทฤษฎีการยุบสภาฯ ส่วนใหญ่ จะเป็นแนวนี้  รัฐบาลจะเลือกยุบสภาฯตอนที่คะแนนนิยมดี แต่การเมืองบ้านเรามักจะเลือกยุบสภาฯตอนที่จวนตัว ไม่มีทางไป มองว่ารัฐสภาเป็นปัญหา ก็เลือกที่จะยุบทิ้ง ทั้งที่จริงๆแล้วการบริหารของรัฐบาลอาจจะมีปัญหา แต่ไปเลือกที่จะโทษสภาฯ แล้วใช้วิธีการยุบสภาฯ

แต่การที่ผมเองวางสเตปเอาไว้แบบนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง  ทางที่หนึ่ง ถ้าเราดูไทม์ไลน์การเมือง เรื่องคดียุบพรรค คาดกันว่าในราวไตรมาสที่ 1ของปี2568 อุณหภูมิการเมืองจะสูงกว่าปีนี้ และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง  ก็ต้องเผื่อทางเอาไว้ทั้งสองทาง  ทางหนึ่งคือ คะแนนดีอยู่ แต่ยังไม่ดีมากก็ยุบไป หรือตัดสินใจยุบเมื่อจวนตัว ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง

- การเมืองวันนี้อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเมื่อ18ปีที่แล้ว ที่คุณทักษิณ หายออกไป หรือไม่ อย่างน้อยมีผู้เล่นหน้าใหม่ คือพรรคสีส้ม พรรคประชาชน ที่ใช้เวลาไม่นาน สามารถขึ้นมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ได้  โจทย์การเมืองวันนี้ ทำให้คุณทักษิณต้องเหนื่อยหรือไม่

การเมืองเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ตัวคุณทักษิณ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ยังคงยึดมั่น ถือมั่นกับวิธีบริหาร ที่ยังเน้นการผูกขาดอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง เหมือนเดิม  ที่เราสังเกตได้คือเกิดปรากฎการณ์ การล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง กรณีการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการเมืองเข้ามายุ่งมากไปจนเกินความพอดี

หรือแม้แต่การเพิ่มสัดส่วนบอร์ดในการบินไทย รวมถึงการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากที่ตั้งครม.แล้ว ซึ่งเข้าใจว่า วันนี้ก็ยังตั้งกันไม่เสร็จ ซึ่งไม่เพราะเรื่องของการตรวจสอบประวัติ ของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกเท่านั้น

แต่ดูเหมือนว่าจะเอาตำแหน่งเหล่านี้ไปขึ้นตรงกับ การเมืองแบบแบ่งกลุ่ม ซึ่งนี่คือสไตล์การบริหารแบบคุณทักษิณ  ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 20ปีที่แล้ว จะเห็นว่าการเมืองไทยถูกผูกขาดเพียงพรรคเดียว  แต่มารอบนี้อาจจะติดขัดหน่อยตรงที่พรรคร่วมรัฐบาล 9พรรค ต่างมีโควตา ของตัวเอง ดังนั้นการล้วงลูกจึงทำไม่ได้ง่ายขึ้น

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความพยายามสถาปนาขั้วอำนาจเดียวแบบเดิม  ซึ่งขั้วอำนาจนี้ก็อาจจะผูกกันเป็นพันธมิตร เป็นแนวร่วม คล้ายกับพรรคอัมโนของมหาเธร์ ของมาเลเซีย เว้นแต่ว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย จะสูงมากพอ จนสามารถประกาศเป็น “รัฐบาลพรรคเดียว” เหมือนกับที่คุณทักษิณ ประกาศบนเวทีปราศรัย ว่าการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคเพื่อไทยจะต้องได้ 200 ที่นั่ง ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องดูอีกที

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคเพื่อไทยก็ไม่เข้าเป้า ตามที่ประกาศเอาไว้ ได้มา 140 เสียง ซึ่งในครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยเคยประกาศเอาไว้ว่าจะต้องได้ เกือบ 300 ที่นั่ง แสดงว่าเสียงก็หายไปครึ่งต่อครึ่ง  และเมื่อมาดูอากัปกริยาในการปราศรัยของคุณทักษิณ บนเวทีปราศรัยที่อุดรฯ ครั้งนี้จะเห็นว่าไม่ต่างจาก เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทยเลย คือการเย้ยหยัน ดูแคลนคู่ต่อสู้  การประกาศศักดา แสดงความมั่นใจว่าพรรคการเมืองของตนเองเป็นทางออกของประเทศ  และยังคงเลือกใช้วาทกรรมในลักษณะของการหาเสียงล่วงหน้า

  -คู่แข่งทางการเมืองของคุณทักษิณ ในวันนี้ คือพรรคประชาชน ถือว่าสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ และน่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยเดินต่อลำบากหรือไม่

ต้องยอมรับว่าจังหวะของการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี สำหรับพรรคประชาชน ที่ต่อเนื่องมาจากสนามเลือกตั้งนายกอบจ. ที่ราชบุรี ที่พ่ายแพ้ ซึ่งจุดนี้พรรคประชาชนตั้งความหวังเอาไว้สูง  สุดท้ายก็แพ้ และต่อมาก็หวังว่าจะมาแก้มือในการเลือกตั้งซ่อมสส.พิษณุโลก เขต 1 ก็ปรากฏว่า ยังแพ้อีก นอกจากนี้คะแนนยังห่างคู่แข่งค่อนข้างมาก เป็นหลักหมื่นคะแนน  ถือว่าเสียจังหวะทางการเมือง

การที่แพ้บ่อยๆ ซ้ำๆ ส่งผลทำให้ความมั่นใจของกองเชียร์ก็แผ่วลง ฉะนั้นพรรคประชาชนก็อาจจะทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากการให้ผู้นำพรรค ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ที่มีความโดดเด่น มาเป็นกำลังหลัก แต่อย่าลืมว่าวิถีการเมืองในภาคอีสาน ขึ้นกับระบบอุปถัมภ์ค่อนข้างมากกว่าภาคอื่นด้วยซ้ำ มีการพึ่งพาผู้มีบารมี ผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า มันเห็นได้โดยทั่วไปในสังคมเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งจุดนี้จะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย  ดังนั้นสำหรับพรรคประชาชน ที่พยายามชูความคิดใหม่ๆเข้าไป จึงต้องใช้เวลา

- วันนี้คุณทักษิณ กำลังวางยุทธศาสตร์อย่างไร ในทางการเมืองกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย  มีการมองว่าวันนี้ที่คุณทักษิณ ต้องออกมาแอกชัน เช่นนี้ เนื่องจากนายกฯแพทองธาร ชินวัตร เริ่มรับมือกับแรงเสียดทาน ทางการเมืองไม่ไหว

ในทางการเมือง คนที่ทำงานหนักเวลานี้ ไม่ใช่คุณแพทองธาร แต่เป็นคุณทักษิณ  เพราะสิ่งที่แวดล้อมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกภาพในรัฐบาล ซึ่งยังมีประเด็นล่อแหลมอยู่คือที่ดินเขากระโดง  เรื่อง มาตรา 112 เรื่องเกาะกูด รวมทั้งเรื่องการต่อรองทางการเมือง และประเด็นเรื่องวัยวุฒิ คุณวุฒิของนายกฯแพทองธาร ด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าคุณทักษิณ ทำให้ลูกสาว ส่วนงานด้านการบริหาร ก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องของนายกฯและทีมงาน และรัฐมนตรี ต้องทำอยู่แล้วตามพฤตินัย และนิตินัย

ด้านเปิดเหมือนจะแบ่งกันอยู่แบบนี้ แต่ในด้านปิดต้องยอมรับว่าแยกกันไม่ออก การเมือง กับงานบ้านเมืองต้องไปด้วยกัน ในทางการเมืองเราจะเห็นได้ว่าศูนย์กลางการตัดสินใจ จะไปอยู่ที่คุณทักษิณ มากกว่า และในการปราศรัยที่อุดรฯครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน จะพบว่าเมื่อถึงเวลาก็ต้องเอาคุณทักษิณไปหาเสียง

- ความมั่นใจของคุณทักษิณ ที่ประกาศบนเวทีปราศรัย ที่อุดรฯ มั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ครบเทอม แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์ในพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ก็ดูอึมครึม  ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องเขากระโดงที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจมีปัญหาต่อกัน จากนี้อายุรัฐบาล จากนี้ไปจะสั้นหรือยาว

ผมมองว่า ในเวลานี้ ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครอยากเลือกตั้งในเวลานี้  เพราะความพร้อมต่างๆยังไม่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนรอน เงินทอง ขณะที่เมกกะโปรเจคต่างๆของรัฐบาลชุดนี้ก็ยังสะดุดในช่วงรัฐบาลเศรษฐา  ก็เพิ่งทยอยออกมา และธรรมชาติของนักการเมืองจริงๆ แล้วถ้าไม่จวนตัวจริงๆ ไม่มีใครอยากลงเลือกตั้ง เพราะมีต้นทุนสูง ฉะนั้นถ้าประคองกันได้ ก็คงจะประคองกันไป และยังไม่เห็นว่าจะมีประเด็นไหนที่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกหักกันจริง ๆถึงขนาดที่ต้องยุบสภาฯ

แต่ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลชุดนี้มีความเสี่ยงสูงคือเรื่องของการตรวจสอบ จากองค์กรอิสระ กรณีที่มีคำร้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องการยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาล หรือกรณีปรากฎการณ์ ชั้น 14 ที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งเริ่มมีการเรียกสอบ เรียกข้อมูลกันอยู่ ถึงบอกว่าในราวต้นปีหน้า กลไกต่างๆเหล่านี้จะเริ่มทำงาน ดังนั้นเชื่อว่าประเด็นสำคัญจะอยู่ที่องค์กรอิสระ มากกว่าปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

-ยังมีอุปสรรคอะไรที่ยังรอรัฐบาลอยู่ข้างหน้า

ผมคิดว่ารัฐบาลยังไม่มีพละกำลังมากพอที่จะทำเรื่องใหญ่ๆได้  เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลนานถึง 9ปี ที่ผ่านมา 1ปี สมัยรัฐบาลคุณเศรษฐา ก็ยังตั้งหลักอะไรไม่ได้มากที่ควร เพิ่งมาตั้งหลักได้ ในช่วงของรัฐบาลแพทองธาร ประกอบกับการที่คุณทักษิณ ลงมาเล่นเองเต็มตัว แต่ยังไม่ถึงกับสามารถลงหลักปักฐานจนทำให้รัฐบาลทำเรื่องใหญ่ๆได้  ซึ่งต้องดูตัวแปรอีกหลายอย่าง ทั้งกลไกจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่กำลังถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น

ปัจจัยทางด้านพรรคฝ่ายค้านที่รุกหนัก ที่ล่าสุดคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ต้องออกมาตอบโต้เมื่อถูกคุณทักษิณ ปราศรัยพาดพิงเรื่องมาตรา 112 หมายความว่าสองพรรคนี้จะแอบคุยกัน แล้วมาทะเลาะกันต่อหน้า เหมือนเดิมคงไม่ได้อีก และหากสัมพันธ์ที่แอบซ่อนมันขาดสะบั้นลง ก็เป็นไปได้ที่พรรคประชาชน ต้องเดินหน้าตรวจสอบพรรคเพื่อไทย เพิ่มมากขึ้น

ทุกวันนี้ฝ่ายค้านก็เห็นมีแต่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่ออกมาตรวจสอบอย่างเข้มข้น และเกือบทุกเรื่อง ขณะที่พรรคประชาชน แทบจะไม่ได้แตะคุณทักษิณ เลย

อีกด้านหนึ่งคือปัจจัยนอกประเทศ เมื่อสหรัฐฯ ได้โดนัล ทรัมป์ มาเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว จะมีนโยบายอีกหลายเรื่องที่คาดไม่ถึง และจะกระทบกับประเทศไทยหรือไม่ ยังต้องดูอีก