ความสัมพันธ์ระหว่าง กองทัพเรือ กับรมว.กลาโหม พลเรือน อย่าง “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เริ่มเป็นที่จับตามอง หลัง “บิ๊กแมว” พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ  ประกาศที่จะเดินหน้า เสริมสร้างกำลังรบทางเรือ  โดยจะเสนอขอซื้อเรือฟรีเกต 2 ลำ ในงบปี 2569 ไม่รอ เรือดำน้ำจีน ที่ยังคงถูกแช่แข็ง

ด้วยเหตุที่ ภูมิธรรม ยังไม่มีทีท่าว่าจะนำ การแก้ไขข้อตกลง เรื่อง เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ของเรือดำน้ำจีน จาก MTU 396 เยอรมัน  เป็น CHD 620 ของจีน เอง และการขยายสัญญาในการต่อเรือ ออกไปอีก 1,217 วัน  เข้าที่ประชุม ครม.

แม้ พล.ร.อ.จิรพล จะพยายามมองในแง่บวกว่า เป็นสัญญาณดี จากรอยยิ้มของ ภูมิธรรม ก็ตาม แต่ก็ดูไร้ความหวัง

“ท่านยิ้มเลยครับ ผมก็เข้าใจท่านว่า ท่านต้องตรวจทุกอย่างและเอกสารเยอะ ต้องใช้เวลานิดนึง ผมไม่กดดันท่าน แต่ผมคิดว่าท่านทราบดีว่ากองทัพเรืออยู่ในสภาพไหน ถ้าท่านเข้าใจก็จะตัดสินเองว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อ”  ผบ.ทร. กล่าว

อีกทั้ง ในการชี้แจงของคณะกรรมการเริอดำน้ำ ที่มี “บิ๊กโอ๋” พล.ร.อ.ชลธิศ  นาวานุเคราะห์  รอง ผบ.ทร. เป็นประธานต่อ ภูมิธรรม ที่แม้ ภูมิธรรม จะเข้าใจในความจำเป็นของ ทร. ในการมีเรือดำน้ำก็ตาม แต่ขอเวลาในการตรวจสอบ ในเรื่องข้อกฎหมาย และ จะหารือ กับ เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ผู้ช่วยทูตทหารจีน และ เยอรมัน เสียก่อน

จนมีการวิเคราะห์กันว่า ภูมิธรรม ต้องรอบคอบ เพราะการนำเข้าที่ประชุม ครม. หากมีปัญหาใดเกิดขึ้นตามมา ครม. จะต้องรับผิดชอบ และยิ่ง หัวหน้า ครม.คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยแล้ว  ภูมิธรรม ก็ยิ่งต้องระมัดระวัง

แม้ว่าในปลายสมัยของ สุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม จะตรวจสอบ ด้านกม. โดยสำนักงานกฤษฎีกา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ตามแต่ ภูมิธรรมก็ยังไม่เอาเข้า ครม. แบบง่ายๆ

ไม่แค่นั้น สุทิน เอง ก็ดูจะเกรงใจทหารเรือ และถูกกดดัน ไม่น้อย จนต้อง ยอมทำตามความต้องการของทร. อีกทั้ง CSOC ของจีน  ก็ยืนกรานที่จะไม่คืนเงิน ราว 8 พันล้านบาท ที่ทร.ผ่อนจ่ายไป  หาก ทร.ยกเลิก โครงการต่อเรือดำน้ำ

กล่าวกันในฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า จุดเสี่ยงคือ การที่ กองทัพเรือ ไปรับรอง เครื่องยนต์ CHD620 ของจีน  จากการที่ทร.ส่งคณะกรรมการฯไปร่วมการทดสอบ เครื่องยนต์ที่จีน มาแล้ว  ที่ทำให้ ไทยเสียเปรียบ หากในอนาคต เรือดำน้ำเกิดปัญหา  

การรับรอง เครื่องยนต์ CHD620 ของทร. ยังถูกมองว่า  ทำให้ ความผิดพลาดบกพร่อง ของฝ่ายจีน  ถูกยอมรับ โดยฝ่ายไทย

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ ภูมิธรรม  ยังไม่ยอมนำเข้า ครม. ง่ายๆ  เพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทย  นั้นชัดเจนว่า ไม่ ต้องการ เรือดำน้ำจีน เมื่อแรก สุทิน มาเป็น รมว.กลาโหม จึงพยายามยกเลิกโครงการนี้  และพยายาม เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตแทน  แต่ในที่สุดก็ต้องยอมแพ้เพราะกองทัพเรือ จับมือกับฝ่ายจีน ไม่ยอมล้มเลิกโครงการ

เมื่อเป็นเช่นนี้  ทร.จึงไม่ตั้งความหวังกับ เริอดำน้ำจีน  จึงต้องหันไปเดินหน้า การต่อเริอฟริเกต แทน  ตามแผนที่ ทร. ต้องการ อีก 8 ลำ

โดยจะเริ่มจาก งบฯปี 2569 ที่จะเสนอขอซื้อ2 ลำ คาดว่า จะสูงถึง กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท  เนื่องจาก ทร.ถูกตัดงบฯ นี้ ตั้งแต่ งบฯปี 2567 และ ไม่ได้เสนอขอในงบฯปี 2568  เพราะรอเรื่อง เรือดำน้ำจีน

ดังนั้น เมื่อ ทร. เห็นว่า  โครงการเริอดำน้ำจีนยังดำไม่โผล่ ก็จะผลักดัน การต่อเรือฟริเกต จาก 2 ลำ เป็น 3 ลำ  โดยจะเน้นการต่อในประเทศ โดยบริษัทต่างชาติ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

แต่อย่างไรก็ตาม  ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะต้องได้ไฟเขียว จากรัฐบาล จากกห. และต้อง ผ่านสภา

โดยเฉพาะคณะกรรมการงบประมาณฯ  ยิ่ง ความสัมพันธ์ของกองทัพเรือกับรัฐบาลโดยเฉพาะนายภูมิธรรมไม่ค่อยราบรื่นนัก 

เพราะในช่วง การแต่งตั้งโยกย้ายในด้านชั้นนายพล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการวัดพลังงาน งัดข้อกันระหว่าง ภูมิธรรม กับ “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม  ผบ.ทร.คนก่อน  ในการเลือก ผบ.ทร.คนใหม่  แต่ที่สุด พล.ร.อ.อะดุง ไม่ยอม ยังคงยืนยัน ชื่อ พล.ร.อ.จิรพล  เป็น ผบ.ทร.

มุมหนึ่ง อาจเป็นเพราะ ขั้วอำนาจ ในทร. ถูกมองว่า เป็น ทหารเรือ สายบ้านป่ารอยต่อฯ  เพราะ พล.ร.อ.อะดุง ก็ถูกจัดให้ เป็นทายาทอำนาจ สืบต่อ มาจาก “บิ๊กจ๊อด” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์  และ “บิ๊กเฒ่า” พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย  ที่เป็นแผงอำนาจ ที่คุม ทร. มาตลอด  ต่อเนื่องเพราะบอร์ด 7 เสือกลาโหม ตาม พ.ร.บ.กลาโหม 2551 ให้อำนาจ ผบ เหล่าทัพ ในการ แต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่สามารถแทรกแซงได้ แม้ว่าตามกฎหมาย จะเปิดช่องให้โหวตได้ก็ตาม แต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็ให้เกียรติกัน  ไม่ใช่แทรกแซงกันจึงไม่เกิดการโหวต เจอทุกเรื่องยังคงคู่อำนาจเดิมมายาวนาน  ถึง 4 ผบ.ทร.

ไม่แค่นั้น ท่าทีของ ทร. ในเรื่อง เกาะกูด และ MOU 44  ก็น่าจับตามอง เพราะทร. มีการประกาศว่า  เส้นเขตแดน ของไทยประกาศไปถึงไหน ทหารเรือ ก็จะดูแลอธิปไตย ถึงตรงนั้น  โดยเฉพาะ ในพื้นที่ 200 ไมล์ทะเล  และ มีเสียงท้วงติง MOU 44   ที่ต้องรอบคอบมากขึ้น รวมทั้งการจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ ที่กรมยุทธศึกษาทหารทหารเรือ 3 ธ.ค.

และที่ต้องจับตามองคือ การจัดการฝึกครั้งใหญ่ที่เกาะกูดและฝึกทางเรือในพื้นที่ 200 ไมล์ทะเล ที่แม้จะมีการฝึกประจำทุกปีอยู่แล้ว เพราะบนเกาะกูด มีหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ดูแลอยู่ แต่การฝึกครั้งนี้ จึงถูกจับตามองว่าเป็นการประกาศ เชิงสัญลักษณ์พื้นที่น่านน้ำของไทย  ที่อาจเป็นการยั่วยุฝ่ายกัมพูชาและทำให้เกิดประเด็นร้อนระหว่างประเทศขึ้นได้

จึงทำให้บรรยากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือ กับ กลาโหมในยุค ภูมิธรรม  ส่อเค้า ตึงเครียด มากขึ้นๆ