จากปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรทำให้ผลผลิตตกต่ำ ขาดความมั่นคงในรายได้และคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการขับเคลื่อนภาคการเกษตรสู่ความสำเร็จ หนึ่งในนั้นคือการรับมือภัยแล้ง รวมทั้งการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูภัยพิบัติทางธรรมชาติ

และหนึ่งในแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น คือ “โครงการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกร” เพื่อหาแนวทางและมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ให้เกษตรกรมีทรัพยากรทั้งดินและน้ำที่เหมาะสมไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องนี้ “นางสาวสุมิตรา วัฒนา” รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า  จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร และการรับมือกับภัยธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน จัดทำ “โครงการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกร” เพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ให้เกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ หรือเก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินในช่วงวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ด้วยการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ พื้นที่ดำเนินโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการในพื้นที่ทางการเกษตรที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดภัยแล้ง จำนวน 53 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

โครงการนี้มีการดำเนินกิจกรรม 3 กิจกรรมหลัก คือ การขุดสระเก็บน้ำ จัดทำระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่การเกษตรในแต่ละพื้นที่ จากการดำเนินโครงการฯ ทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้รับการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกร สำหรับเกษตรกรนอกจากจะได้ใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำขนาด 1,375 ลูกบาศก์เมตรแล้ว ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในแปลงด้วยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำการเกษตรให้กับเกษตรกร เกิดการเปลี่ยนแปลง การปลูกพืช และผลผลิตของเกษตรกร ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นางสาวสุมิตรา กล่าวว่า ส่วนแผนการดำเนินการของโครงการในปีถัดไป คือ ปี 2568 กรมพัฒนาที่ดินมีเป้าหมายดำเนินโครงการในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเช่นเดียวกับปี 2567 โดยมีเป้าหมายก่อสร้างสระเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งในปี 2568 จะมีการดำเนินงานตามคู่มือปฏิบัติงานที่ได้จัดทำขึ้นโดยเน้นให้เกิดประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบนดินและใต้ดิน โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผล ทั้งในเชิงกายภาพในด้านปริมาณความชื้นของดิน ระดับน้ำใต้ดิน และปริมาณน้ำในสระเก็บน้ำ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร เพื่อเป็นข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของโครงการในการบริหารจัดการภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับโครงการนี้ ถือเป็นการทำงานของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับชุมชนที่มุ่งหวังช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการดินและน้ำร่วมกันได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทยต่อไป

“กรมพัฒนาที่ดินมีแผนงานและโครงการที่เชื่อมโยงกับนโยบายสำคัญที่สอดคล้องกับ 9 นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดแนวทางในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  ได้แก่

 การบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โครงการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกร และโครงการอนุรักษ์ดินและบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคงภาคการเกษตรพื้นที่เกษตรน้ำฝน 

การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง คือโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม และกิจกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับเกษตรกรรายแปลง

การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ประกอบด้วยโครงการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และความสมดุลการจัดการทรัพยากรที่ดิน (LDN) และโครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก           

เชื่อว่าหลังจากนี้ “เกษตรกรไทย” จะมีอนาคตที่ดีขึ้น ไม่ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรต่อไป!!!