สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระชุดกิมตึ๋ง นั้น เป็นพระจตุภาคี คือมีทั้งหมด 4 องค์ ประกอบด้วย พระสี่กร  พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก หรือปรกพลายชุมพล

พระชุดกิมตึ๋ง เป็นพระชุดยอดนิยมชุดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี มีการค้นพบกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ โดยทั่วไปของจังหวัด ในสมัยก่อนมักเรียกกันว่า “พระตับพลายชุมพล” ตามชื่อวัดพลายชุมพลที่เป็นสถานที่พบพระเป็นแห่งแรก  พระชุดกิมตึ๋ง นั้น เป็นพระจตุภาคี คือมีทั้งหมด 4 องค์ ประกอบด้วย พระสี่กร  พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรกหรือปรกพลายชุมพล แต่ที่เพี้ยนชื่อมาเป็น “พระชุดกิมตึ๋ง” และเรียกติดปากกันต่อมาจนปัจจุบันนั้น มีการตั้งข้อสันนิษฐานตามเรื่องราวในอดีตไว้หลายประการ อาทิ

……ในราวสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 5 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นิยมเล่นเครื่องลายครามและจัดโต๊ะหมู่บูชาที่ทำจากเครื่องเคลือบชนิดต่างๆ กันอย่างแพร่หลาย และจะสั่งสินค้ามาจากเมืองจีน มีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ต้นตระกูลโชติกพุกกณะ) ท่านเป็นผู้สั่งซื้อชุดเครื่องถ้วยประกอบโต๊ะหมู่บูชาจากจีนมาขายในไทย ปรากฏว่ามีอยู่ชุดหนึ่งที่มีความงดงามมากเป็นที่เลื่องลือในหมู่นักสะสม ท่านจึงทูลขอให้กรมขุนสีห์ราชวิกรมทรงตั้งชื่อให้ ได้ชื่อว่า “ชุดกิมตึ๋ง” ด้วยความโด่งดังของโต๊ะหมู่บูชาชุดนี้อยู่ในช่วงที่พระตับวัดพลายชุมพลแตกกรุและมีชื่อเสียงเด่นดังเช่นกัน จึงนำมาพูดแทนกันจนกลายมาเป็น “พระชุดกิมตึ๋ง”

……พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ได้สั่งถ้วยชามาจากจีนเมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ 4 ใต้ก้นถ้วยประทับว่า “กิมตึ๋งฮกกี่” ซึ่งแปลว่า “เครื่องหมายอันวิเศษอย่างเต็มที่” และถ้วยที่สั่งก็มี 4 ใบ จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีการเอามาเปรียบเทียบและเรียกกันจนลืมเลือนชื่อเดิมไป อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนี้น่าจะไม่ได้เปรียบในด้านความงดงาม หากแต่น่าจะเปรียบในด้านของคุณวิเศษมากกว่า เพราะพระชุดนี้เป็นสุดยอดของความอยู่ยงคงกระพันทีเดียว

“พระชุดกิมตึ๋ง” ทั้ง 4 องค์ เป็นพระเนื้อดินเผา มีเม็ดทรายปะปนมากบ้างน้อยบ้าง มี 3 สี คือ สีแดง สีเทาหม่น และสีดำ แต่ที่เป็นที่นิยมเล่นหาคือ สีแดง ซึ่งเฉพาะสีแดงนั้นจะแยกได้เป็น 4 เฉด คือ

- สีแดงหม้อดินใหม่ สีจะค่อนข้างแดงสด เนื้อหนึกนุ่ม มีความฉ่ำ

- สีแดงหม้อเก่า  ค่อนข้างซีดจนออกขาว แห้งแกร่ง

- สีแดงปนน้ำตาล ทั้งน้ำตาลแก่และอ่อน มีความหนึกนุ่มและฉ่ำ

- สีแดงมะขามเปียก แดงเข้มในลักษณะน้ำตาลไหม้ หนึกนุ่มและฉ่ำ

พุทธลักษณะแม่พิมพ์ของ “พระชุดกิมตึ๋ง” แต่ละองค์ มีดังนี้

พระสี่กร

พิมพ์ทรงจะคล้ายๆ ผลมะปรางผ่าซีก สูงประมาณ 3.5 ซม.ยอดบนค่อนข้างออกแหลมกว่าทุกองค์ องค์พระประธานประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย พระเกศสูงชะลูด พระพักตร์เลือนไม่ปรากฏรายละเอียด พระกรทั้งสองข้างเป็นคู่ตามชื่อเรียก เนื้อองค์พระส่วนมากหนึกแน่นและแกร่ง มีเม็ดทรายน้อย

พระมอญแปลง

พิมพ์ทรงจะคล้ายๆ ผลมะปรางผ่าซีก มีทั้งพิมพ์ใหญ่ ความสูง4-4.5 ซม. และพิมพ์เล็ก สูง 3 ซม. องค์พระแสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ไม่แน่นและแกร่งเท่าพระสี่กร

พระประคำรอบ

พิมพ์ทรงจะคล้ายๆ ผลมะปรางผ่าซีกแต่ค่อนข้างกลมกว่าทุกพิมพ์ องค์พระแสดงปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้วซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกจิก รอบซุ้มมีเม็ดกลมลักษณะเป็นลูกประคำ ตามชื่อเรียก

พระนาคปรก

บางทีก็เรียก “ปรกพลายชุมพล” พิมพ์ทรงจะคล้ายๆ ผลมะปรางผ่าซีกเช่นกัน มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก องค์พระประทับนั่งแสดงปางสมาธิ เศียรพญานาค 7 ตัวแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง พิมพ์ใหญ่เนื้อหยาบ ส่วนพิมพ์เล็กเนื้อค่อนข้างละเอียด

พิมพ์ด้านหลังของ “พระชุดกิมตึ๋ง” ทั้ง 4 องค์นี้ จะคล้ายกันคือ มนและขรุขระเล็กน้อย บางองค์มีรอยหยิบด้วยมือ บางองค์เป็นลายมือ วิธีการศึกษาพิจารณาต้องใช้หลักการจำและการได้ดูของแท้ได้สัมผัสบ่อยๆ ครับผม