ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“ความรัก” คนสมัยใหม่บอกว่าคือ “เคมีที่เข้ากัน” เป็นเคมีที่สร้างทั้งอารมณ์และความปรารถนา
ตั้งแต่เด็ก ๆ แม่คือคนที่คุยกับณีรณัชชามากที่สุด ส่วนหนึ่งก็ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในฐานะแม่กับลูก อีกทั้งแม่ก็อยู่กับเธอตลอดเวลา เพราะพ่อต้องไปทำงานหาเงินเพียงคนเดียว ความเป็นห่วงเป็นใยนี้แสดงออกด้วยการสั่งสอนอบรม ที่ไม่อยากจะให้เธอมี “ชีวิตรัก” ที่มีปัญหาเหมือนแม่ โดยเปรียบเทียบผู้ชายที่ใกล้ตัวแม่ 2 คน คือพ่อของแม่หรือคุณตากับพ่อของเธอ ว่ามีความแตกต่างกันเพียงไร
คุณตาสืบตระกูลมาจากขุนนางเก่าที่มีชื่อเสียงทางด้านกฎหมายมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คุณตามีภรรยา 3 คน คนในบ้านเรียกว่า คุณแม่ใหญ่ คุณแม่กลาง และคุณแม่เล็ก ตามลำดับ โดยแม่ของณีรณัชชาเป็นลูกสาวของคุณแม่เล็กหรือเมียคนเล็กของคุณตานั่นเอง โดยแม่ยังมีพี่ชายกับน้องชายอีกด้วย ส่วนคุณแม่ใหญ่ที่เป็นเมียหลวงก็มีลูกชาย 2 คน คุณแม่กลางที่เป็นเมียรองมีลูกสาวเพียงคนเดียว แต่ไม่ใคร่สมบูรณ์นัก แบบที่เรียกกันว่า “เอ๋อ” หรือปัญญาอ่อน ทั้งสามเมียแยกกันอยู่คนละบ้านในบริเวณเดียวกัน ในลักษณะที่ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกันเท่าใด แม้แต่ลูก ๆ ของแต่ละบ้านก็ไม่ได้เล่นหรือทำอะไร ๆ ด้วยกัน
บรรดาเด็กทั้ง 6 คนของทั้ง 3 บ้าน มีอายุไล่ ๆ กัน เด็กชาย 2 คนของบ้านใหญ่ได้เรียนโรงเรียนที่หรูหราและเมื่อโตมาก็มีงานการที่หรูหรา ได้รับราชการทางด้านทหารคนหนึ่งและด้านตำรวจอีกคนหนึ่ง ส่วนลูกสาวของบ้านกลางที่ไม่สมบูรณ์นั้นก็มีชีวิตที่ปิดตายแบบ “นางห้อง” คือไม่ค่อยได้ออกไปไหนมาไหน โดยมีคุณแม่กลางนั้นคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ส่วนเด็กอีก 3 คนที่บ้านคุณแม่เล็กที่เป็นแม่ของณีรณัชชาด้วยนั้น ก็เหมือนไม่อยากจะไปเสวนากับอีกสองบ้านนั้นเท่าใดนัก แต่ก็ดูเหมือนว่าคุณตาจะรักลูกทั้งสามคนของบ้านนี้ไม่น้อยเช่นกัน แม้ว่าลูกชายบ้านนี้สองคนจะไม่ได้เรียนโรงเรียนดี ๆ แบบลูกชายของบ้านใหญ่ แต่ก็ดีรับการฝากฝังให้เข้าทำงานที่ดี คือได้เป็นข้าราชการเช่นเดียวกัน ส่วนแม่ของเธอที่แม้เป็นลูกสาวก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นด้วยแม่ของเธอเป็นคนที่สวยเอามาก ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้คุณตาค่อนข้างเห่อและทะนุถนอมเอามาก ๆ แม่บอกณีรณัชชาว่าพอแม่เป็นสาวก็ได้ยินคุณตาพูดแต่ว่า จะให้แม่ได้สามีที่สมฐานะกัน แต่คุณยายมักจะคอยกีดกันว่า “อย่ามายุ่งกับลูกของฉัน ลูกของฉันไม่ใช่ข้าวของที่จะยกให้ใครได้ตามใจ”
ส่วนพ่อของณีรณัชชา แม่เล่าให้ฟังว่าตอนที่เจอกันนั้น แม่เพิ่งจบชั้นมัธยมปลาย คุณยายพาแม่ไปทำผมให้ดูสมกับเป็นสาวที่พ้นวัยเรียน ตัวร้านทำผมอยู่ในตึกแถวที่คุณตาปลูกไว้ให้เช่า ถัดไป 2-3 ห้องก็เป็นร้านขายเครื่องเขียนที่ส่วนหนึ่งสั่งจากต่างประเทศมาขาย พ่อเป็นเสมียนบัญชีของร้านที่ต้องทำหน้าที่เก็บเงินหรือเป็น “แคชเชียร์” นั้นด้วย แวบแรกที่แม่สบตากับพ่อก็รู้สึกแต่ว่าพ่อเป็นผู้ชายที่หน้าตาค่อนข้างดี แต่งตัวเรียบร้อยสะอาดสอ้าน เพียงแต่ไม่ค่อยยิ้มและก้มหน้าก้มตามากไปหน่อย ซึ่งแม่มารู้ภายหลังจากปากของพ่อตอนที่มาอยู่กินด้วยกันแล้วว่า เป็นเพราะกิตติศัพท์ของ “ใต้เท้า” คือคุณตาที่หวงลูกสาวคนนี้มาก ทำให้ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวและไม่กล้าสบตากับแม่ แต่ก็ชอบแม่อยู่มากเหมือนกัน ทว่าไม่กล้าพูดจาอะไร เพราะกลัวว่าแม่จะดุเหมือนคุณตา ที่เวลาที่มาร้านนี้ก็จะไม่พูดอะไร ทำแต่หน้าถมึงทึง และเดินกระแทกไม้เท้าไปทั่วร้าน
สมัยนั้นวัยรุ่นนิยมเขียน “อนุทิน” อย่างที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า “ไดอารี่” แม่ก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเขียน เพียงแต่ไม่ได้เขียนแบบบันทึกความจำหรือเล่าเรื่องรายวัน แต่แม่จะชอบอ่านนิตยสารที่คุณยายรับมาส่งที่บ้าน แล้วในนิตยสารนั้นก็จะมีนิยายหลายเรื่อง รวมถึงบทกลอนต่าง ๆ ซึ่งแม่จะคอยคัดบทกลอนที่เพราะ ๆ และข้อความหรือคำพูดในนิยายที่ “โดนใจ” ของตัวเอกในนิยายแต่ละเรื่องลงในอนุทินของแม่ บางทีแม่ก็เก็บดอกไม้เล็ก ๆ สีสวย ๆ พวกดอกเข็ม แววมยุรา หรืออัญชัน มาวางประดับไว้ตามมุมบทกลอนและข้อความที่คัดมานั้น พอปิดสมุดทับลงไปก็จะกลายเป็นดอกไม้แห้งติดแน่นอยู่บนแผ่นกระดาษนั้น โดยที่ร้านเครื่องเขียนที่พ่อเป็นแคชเชียร์จะมีสมุดบันทึกหรืออนุทินสวย ๆ หมุนเวียนเปลี่ยนมาขายอย่างสม่ำเสมอ พอแม่ได้มาเจอพ่อในวันแรกนั้น จากนั้นก็ “หาเหตุ” ออกมาที่ร้านนี้อยู่เป็นประจำ ข้ออ้างหนึ่งก็คือเพื่อมาซื้อสมุดอนุทินนั้น ซึ่งคุณยายก็ไม่ได้ระแวง ถึงขั้นบางครั้งก็ให้แม่ออกมาซื้อเพียงลำพัง โดยไม่คิดว่าอีกไม่กี่เดือนต่อมาจะเกิดเหตุให้ต้องพรากกับลูกสาวคนเดียวคนนี้
วันหนึ่งแม่เอาสมุดอนุทินของแม่ไปให้ที่ร้านซ่อม โดยมีพ่อที่เป็นแคชเชียร์นั้นเป็นช่างซ่อมให้ ระหว่างที่รอซ่อมก็เลยได้คุยกับพ่อ โดยที่พ่อเป็นคนเริ่มสนทนาขึ้นก่อน ถามแม่ว่าแม่คัดบทกลอนและข้อความเพราะ ๆ นี้ไว้ทำไม แม่ก็ตอบตามตรงว่าเก็บไว้อ่านให้ชื่นใจ แล้วก็เลยถามพ่อว่าพ่อชอบอะไร พ่อก็บอกว่าพ่อก็ชอบเขียนกลอนเคยส่งไปลงนิตยสารอยู่บ้าง นาน ๆ ครั้งก็ได้ลง แต่เขียนโดยใช้นามปากกา พอบอกยามปากกาออกไป แม่ก็ร้องอ๋อ บอกว่าเคยได้อ่าน แต่ไม่ได้เก็บไว้ เพราะมันเศร้ามากไป แม่ชอบกลอนหวาน ๆ ฝัน ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่ฝันออกไปไกล ๆ ตัว หรือเป็นสถานที่และเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้จักก็ยิ่งดี อ่านทีไรก็มีความสุขอยู่กับ “ฝันอันไกลตัว” การสนทนาทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง จนแม่กล้าบอกกับพ่อว่าแม่อยากจะไปอยู่ในสถานที่แบบนั้น แล้วก็ถามพ่อว่า “พาดิฉันไปหน่อยได้ไหม”
ที่แม่กล้าขอร้องพ่อแบบนั้น แม่บอกว่าแม่ไม่ได้คิดกลัวอะไรเลย ทั้งที่พ่อก็บอกแล้วว่า “ดินแดนในฝัน” ของแม่ไม่มีจริงหรอก ทั้งความจริงชีวิตภายนอกมันมีแต่ความยากลำบาก แต่แม่ก็ยืนยันว่า “ไม่มีที่ไหนที่ลำบากมากไปกว่าที่บ้านดิฉันหรอก” ตอนนั้นพ่อเองก็เหมือนถูกมนตร์อะไรสักอย่างมา “สะกด” จนต้องพูดถึงแผนการที่จะ “พากันหนี” ขึ้นในวันหนึ่ง จนถึงวันเวลาที่นัดหมาย แม่ก็แอบเอาของมีค่าบางอย่างโดยไม่ได้เอากระเป๋าหรือหีบห่อใด ๆ มาด้วย เพื่อไม่ให้คุณยายผิดสังเกต พ่อมารับแม่โดยนั่งแท็กซี่แล้วพาไปที่สถานีขนส่ง ตลอดทางก็เงียบเสียงไม่คุยอะไรกัน เพราะกลัวว่าคนขับแท็กซี่จะรู้ว่าพากันหนีออกมา แม่แต่บนรถโดยสารก็คุยกันน้อยมาก จนรุ่งเช้าเมื่อมาถึง “จังหวัดหนึ่ง” และได้ไปพักที่ในตลาดแล้ว ในห้องแถวที่อยู่ด้วยกันเพียงสองต่อสอง ทั้งคู่จึงเริ่มสนทนากันอย่างดีใจ
แม่เขียนจดหมายไว้ให้คุณยาย บอกว่าเสียใจที่ต้องทำอย่างนี้ ขออย่าได้ติดตาม และจะแจ้งข่าวมาเป็นระยะ โดยไม่ได้บอกว่าหนีไปอยู่กับใคร ซึ่งพอคุณตาทราบเรื่องก็โกรธและโมโหมาก แรก ๆ ก็จ้างให้คนออกตาม จนผ่านไปเป็นปีก็หมดความพยายาม ได้แต่สาปแช่งว่า “ขอให้มันอย่าได้ไปผุดไปเกิด”
แม่เล่าว่าในปีที่ณีรณัชชาเกิด คุณยายก็ป่วยหนัก ส่วนคุณตาก็สิ้นบุญไปก่อนแล้ว แม่ก็พาเธอเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อมากราบคุณยาย เพื่อบอกให้คุณยาย “ตายตาหลับ” ว่าแม่มีความสุขและครอบครัวสบายดี