ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : ในแง่ของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เป็นหมุดหมายเตือนใจสังคมโลกว่า การโจรกรรม การปล้นสะดม และการค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอย่างผิดกฎหมายนั้นเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งได้พรากผู้คนจากวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของพวกเขา จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทุกฝ่ายในการต่อกรกับอาชญากรรมที่แพร่ระบาดนี้ ประชาชน ภาครัฐ ตลาดงานศิลปะ และสถาบันต่างๆ สามารถเติมเต็มในบทบาทที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา โดยการสร้างความตระหนัก การศึกษาหาข้อมูลและยึดหลักจริยธรรมทางการค้าเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนวัตถุทางศิลปวัฒนธรรม สร้างและเคารพกฎเกณฑ์และกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม, ตอนหนึ่งของถ้อยเอกสารวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ และกรมศิลปากร จัดพิธีส่งมอบโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย ภาชนะดินเผา กำไลข้อมูล และลูกกลิ้งทรงกระบอก 2 ชิ้น โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานรับมอบโบราณวัตถุ นายราฟีค แมนซัวร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา นายโรเบิร์ต เอฟ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนส่งมอบ นางซูฮย็อน คิม ผอ.ส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ เป็นสักขีพยาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ในครั้งนี้มีการเปิดเสวนาเนื่องในโอกาสวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 ยูเนสโกจะเฉลิมฉลอง 54 ปีของอนุสัญญาปี ค.ศ. 1970 ว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะกฎหมายสากลที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับกรอบแม่บทกฎหมายนานาชาติ ส่งเสริมการยกระดับศักยภาพและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน และเพิ่มความตระหนักรู้ของสาธารณชนทั่วโลกให้ต่อต้านการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมและศิลปกรรม อย่างไรก็ตามในอนุภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ยังเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้น้อยที่สุดในโลก โดยมีเพียง 4 จาก10 ประเทศอาเซียนที่บังคับใช้บทบัญญัติของอนุสัญญาในผ่านกฎหมายและนโยบายระดับชาติ อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

ราฟีค แมนซัวร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับคุ้มครองโบราณวัตถุของนานาประเทศ การลักลอบค้าโบราณวัตถุผิดกกฎหมาย ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบเข้ามาและส่งคืนประเทศต้นทางมาอย่างต่อเนื่องกว่า 25 ปี โดยพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีการส่งคืนมากกว่า 250 รายการ อาทิ ไทย กัมพูชา ลาว อีกทั้งยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านโครงการกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2544 ที่มอบเงินช่วยเหลือเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมผ่านสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และอาเซียนมากถึง 128 โครงการ เฉพาะในไทยจำนวน 20 โครงการ ขณะเดียวกันยังคงมุ่งมั่นในการบังคับใช้กฎหมายในการติดตามสืบสวนสอบสวนการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมคืนให้แก่ประเทศต้นทาง รวมถึงความร่วมมือระดับทวิภาคีในการป้องกันการลักลอบค้าโบราณวัตถุไปยังสหรัฐฯ ด้วย

โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งคืนโบราณวัตถุจำนวน 4 ชิ้นจากแหล่งบ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ ทางภาคกลางของไทย ซึ่งประกอบด้วยภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอก 2 ชิ้นที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด ที่มาของโบราณวัตถุเหล่านี้มีประวัติย้อนหลังถึงช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่อทหารอเมริกันได้รับโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นของขวัญจากรัฐบาลไทย ซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถานทูตแห่งนี้ ได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และถึงเวลาที่จะส่งคืนสิ่งของล้ำค่านี้กลับสู่บ้านเกิดที่แท้จริง หวังว่าสิ่งของเหล่านี้จะมีส่วนช่วยการศึกษาวิจัยและทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหนึ่งในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคมได้ส่งคืนประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือโกลเด้นบอย และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนิวยอร์กคืนสู่ประเทศไทย

ด้าน ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ กล่าวในนามของยูเนสโกว่า แหล่งที่มาของโบราณวัตถุเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2535 สิ่งที่ทำให้บ้านเชียงมีความพิเศษก็คือบ้านเชียงช่วยทำให้เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์แปรเปลี่ยนจากกลุ่มคนเร่ร่อนย้ายถิ่นมาเป็นอารยธรรมตั้งรกรากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ได ซึ่งเรื่องราวของบ้านเชียงได้รับการบอกเล่าผ่านห้วงนาทีสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสำริดในช่วงแรกๆ กำเนิดของการเกษตรทำนาทดน้ำและการเลี้ยงปศุสัตว์ ตลอดจนการพัฒนาวิธีการฝังศพที่ซับซ้อนมากขึ้น โบราณวัตถุทุกชิ้นไม่ว่าเล็กแค่ไหนก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้ นับว่าหาได้ยากยิ่งที่ได้เห็นเครื่องดินเผาแสนเปราะบางที่มีอายุเก่าแก่เช่นนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์

ด้าน สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวโบราณวัตถุทั้ง 4 รายการ จะมีการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากนั้นจะมีการนำกลับไปยังแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงต่อไป ทางด้าน พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวด้วยว่ายังได้รับการประสานจากสหรัฐฯเตรียมส่งคืนโบราณวัตถุอีก 2 รายการ ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาฮินดู โดยขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการพิสูจน์และนำเข้าสู่คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไป ร่วมปกป้องโบราณวัตถุ ส่งคืนสิ่งของล้ำค่ากลับสู่บ้านเกิดที่แท้จริง