ลากยาวมาจนถึง 1,000 วันแล้ว สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) หรือเมื่อ 1,000 วันที่แล้ว ที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร หลังจากนั้นไม่กี่อึดใจ กองทัพรัสเซียก็กรีธาพลยกข้ามพรมแดนเข้าไปรุกรานยูเครน

โดยระยะเวลาที่ลากยาวมา ก็ต้องถือว่า พลิกล็อก ผิดคาด จากการประเมินของเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญ และนักวิเคราะห์ทางการทหารอย่างชนิดมโหฬารเลยทีเดียว ที่คาดการณ์ว่า รัสเซียจะเผด็จศึกยูเครนโดยใช้เวลาไม่นาน เพราะเมื่อเปรียบเทียบทางการทหารในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายแล้ว ยูเครนก็ไม่ใช่คู่ต่อกรกับรัสเซีย ห่างไกลกันลิบลับ

ไม่เว้นแม้กระทั่งตามการคาดการณ์ของ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” ซึ่งเป็นผู้สั่งการในปฏิบัติการพิเศษทางการทหารต่อยูเครน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การประกาศสงครามต่อยูเครน นั่นเอง ก็ยังประเมินในช่วงแรกๆ เลยว่า กองทัพรัสเซียของเขาจะใช้เวลาเพียง 10 วันเท่านั้น ก็สามารถยึดครองยูเครนได้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในวันประกาศใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร หรือสงคราม ต่อยูเครน ที่ทำเนียบเครมลิน กรุงมอสโก เมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) (Photo : AFP)

ทว่า ประธานาธิบดีปูติน ก็ประเมินผิดพลาด โดยต้องใช้เวลามากกว่าที่ประมาณการไว้ตั้งแต่แรกถึง 100 เท่าเป็นอย่างน้อย คือ จาก 10 วัน มาถึง ณ วันนี้ก็เป็นเวลา 1,000 วัน แถมมิหนำซ้ำ กองทัพรัสเซียของประธานาธิบดีปูติน ก็ยังไม่สามารถเป็นฝ่ายมีชัยเหนือยูเครนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยสถานการณ์สู้รบยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

ใช่แต่เท่านั้น สถานการณ์สู้รบยิ่งระยะเวลาผ่านเนิ่นนานมา ก็ยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับความยากที่ก็มากยิ่งขึ้นตามลำดับ พร้อมกับส่งผลทำให้ระยะเวลาของการทำสงครามต้องยื้ดเยื้อยาวนานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปรากฏว่า สถานการณ์สู้รบ ไม่ได้มีแต่เฉพาะคู่กรณีพิพาท คือ รัสเซียกับยูเครน เท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ถูกลากมาเข้าร่วมมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ทั้งจากทางฟากของยูเครน และทางฝั่งของรัสเซีย

ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินจากการสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน (Photo : AFP)

โดยทางฟากของยูเครน ก็ได้รับความช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสหรัฐอเมริกา และเหล่าชาติพันธมิตรตะวันตก และภูมิภาคอื่นๆ ในการต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย นอกเหนือจากที่ยูเครน ต้องพึ่งพาตนเองเป็นประการต่างๆ แม้กระทั่งใช้อาสาสมัครทหารหญิง เพื่อปฏิบัติภารกิจบางหน้าที่ เช่น การยิงสกัดโดรนโจมตีจากกองทัพรัสเซีย และการเก็บกับดักระเบิด ที่กองทัพแต่ละฝ่ายลอบฝังตามพื้นดิน เป็นต้น

ยูเครนต้องฝึกสตรีให้มาเป็นทหารหญิง กำลังพลให้แก่กองทัพ ในการสู้รบกับรัสเซีย (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมข้างต้น ก็มีทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการฝึกฝนทางการทหารจากบรรดาชาติพันธมิตรเหล่านั้น ซึ่งชาติที่ให้ความช่วยเหลือมากกว่าใครๆ ก็คือ สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ด้านต่างๆ อาทิ การค้าขายน้ำมัน ระบบการเงินการธนาคาร รวมไปถึงบุคคลสำคัญๆ ของรัสเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือจากทางชาติมหาอำนาจตะวันตกข้างต้น ดูจะสัมฤทธิ์ผลไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อปรากฏว่า เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ฉ้อฉล ภายในยูเครนเอง เช่น การลักลอบนำอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกไปขายในตลาดมืดที่ค้าอาวุธสงคราม เป็นอาทิ แทนที่จะนำไปใช้ในภารกิจต่อต้านการรุกรานจากรัสเซียอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนมีรายงานว่า บรรดานายทหารของยูเครนที่ยักยอกทุจริตคอร์รัปชันไปนั้น นำเงินไปซื้อคฤหาสน์ในต่างแดนกันก็มี

ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ต้องสั่งปลดนายทหารระดับสูง หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งไปก็หลายคน

ขณะที่ ทางฝั่งของรัสเซีย ก็สร้างความซับซ้อนของการทำสงครามกับยูเครน จนน่าวิตกกังวลให้แก่ประชาคมโลกไม่น้อยเหมือนกัน

เริ่มจากที่กองทัพรัสเซีย ใช้บริการของ “กลุ่มนักรบรับจ้างเอกชน” อย่าง “วากเนอร์” ของ “นายเยฟเกนี พริโกชิน” ผู้ล่วงลับอย่างเป็นปริศนา จนไปๆ มาๆ ทำท่าว่ากลุ่มนักรบรับจ้างเอกชนเหล่านี้ จะกลายเป็นตัวสร้างปัญหาด้านความมั่นคงของรัสเซียเอง ก่อนที่จะถูกขจัดออกไป แล้วให้ไปประจำการในเบลารุส ประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับโปแลนด์ ส่งผลให้สร้างความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงให้แก่โปแลนด์มิใช่น้อย เพราะกลุ่มนักรบรับจ้าง “วากเนอร์” ก็เลื่องชื่อในเรื่องความโหดเหี้ยมป่าเถื่อน และมีศักยภาพทางการรบไม่บันเบา ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว กลุ่มนักรบรับจ้างวากเนอร์ มีขีดความสามารถทางการรบไล่เลี่ยใกล้เคียงกับทหารหน่วยรบพิเศษของหลายๆ ประเทศเลยทีเดียว โดยปรากฏให้เห็นจนน่าสะพรึงในหลายสมรภูมิสงคราม เช่น สงครามกลางเมืองซีเรีย และสงครามรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลในหลายประเทศของภูมิภาคแอฟริกา เป็นอาทิ

ทหารเกาหลีเหนือฝึกซ้อมการยิงปืนใหญ่ (Photo : AFP)

ล่าสุด กองทัพรัสเซีย สร้างความซับซ้อนในการทำสงครามกับยูเครน ด้วยการใช้บริการของทหารจากกองทัพเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นไปตามข้อแลกเปลี่ยนในความตกลงระหว่างประธานาธิบดีปูติน ได้ทำเอาไว้กับนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่มีขึ้นก่อนหน้า โดยที่เกาหลีเหนือก็ส่งทหารระดับต่างๆ รวมถึงหน่วยรบพิเศษ มาหาประสบการณ์จากสมรภูมิจริง เพราะเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีการซ้อมรบกับกองทัพนานาชาติมากสักเท่าไหร่ นอกเหนือจากการส่งขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ ให้แก่รัสเซียใช้ในการทำสงครามกับยูเครนแล้ว ส่วนเกาหลีเหนือก็จะได้เทคโนโลยีด้านการพัฒนาดาวเทียมที่รัสเซียถนัด ตลอดความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัสเซียเป็นสิ่งตอบแทน

จากความร่วมมือของรัสเซียกับเกาหลีเหนือ ก็เป็นที่จับจ้องมองจากบรรดาชาติตะวันตก โดยเฉพาะเหล่าชาติยุโรป กันอย่างไม่กระพริบตา เพราะถือเป็นครั้งแรกที่กำลังพลของเกาหลีเหนือ มาเยือนถึงหน้าประตูบ้านกันเยี่ยงนี้

อาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือยูเครน ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธเหล่านี้โจมตีในดินแดนของรัสเซียได้ (Photo : AFP)

ส่วนทางฟากยูเครน ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อปรากฏว่า ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เปิดไฟเขียว คือ อนุญาตให้ยูเครน สามารถใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง รวมถึงขีปนาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โจมตีถึงในดินแดนของรัสเซียได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจากเดิมที่ห้ามใช้ เพราะหวั่นเกรงจะเป็นการเผชิญหน้ากับรัสเซียมากเกินไป ก็ส่งผลสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อรัสเซียโดยทันที ที่เห็นว่า เสมือนหนึ่งนำอาวุธจากสหรัฐฯ คู่ปรปักษ์ มาโจมตีถึงในดินแดนของรัสเซียแบบโดยตรง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า หลังจากสหรัฐฯ เปิดไฟเขียวเบิกฤกษ์เป็นปฐมแล้ว ก็จะทำให้ชาติตะวันตกที่ส่งอาวุธไปช่วยยูเครน จะเปิดไฟเขียวตามรอยสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาเป็นแน่

เห็นทีการสู้รบจะยืดเยื้อต่อไป พร้อมกับคร่าชีวิตผู้คน ให้บาดเจ็บล้มตายจำนวนหลายแสน และก่อให้เกิดคลื่นอพยพอีกจำนวนนับล้าน โดยไม่มีทีท่าว่าสงครามนี้จะยุติลงเมื่อใด