ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต           

“...วิถีแห่งสัมพันธภาพของชีวิต..ล้วนมีความหมายที่ชวนใคร่ครวญอยู่เสมอ..มันคือผัสสะของความชิดใกล้ ที่มีค่าอันสูงส่งต่อชีวิตในทุกๆโมงยาม ..ผ่านการปล่อยวางทางใจอันปลดปลง...ด้วยเหตุนี้..เราจักได้เห็นถึงนิยามความหมายที่ทั้งเปิดกว้างและหยั่งลึก ที่เป็นเครื่องแสดงถึงสัจจะของการรับรู้แก่นสารแห่งความมีความเป็นของชีวิต..ขณะที่บางครั้งความห่วงใยอาจ เป็นต้นรากของความห่วงใยที่ยากจะระงับยับยั้ง..โครงสร้างแห่งจิตวิญญาณของการดำเนินไปแห่งชีวิตมักให้ข้อสรุปอันชวนกระทบใจดั่งนี้.. “เพราะห่วงจึงห่าง..เพราะปล่อยวางจึงผูกพัน” ..นี่คือบทเริ่มต้นของประโยชน์สุข..ที่ระบุถึงว่า..เมื่อคนเรามีระยะห่างแห่งการใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะ.. “ชีวิตของเราก็จะอ่อนโยนลงอย่างน่าอัศจรรย์”...”

นั่นคือ...บทเริ่มต้นแห่งสำนึกคิดที่งดงามและชวนขบคิด..ที่ได้รับจากหนังสือแห่งการโอบประคองใจ ให้บังเกิดความสุขสว่าง ..อันยั่งยืน..ของการมีชีวิตอยู่..

“เพราะห่วงจึงห่าง เพราะปล่อยวางจึงผูกพัน” (Give Yourself Some Space)..ผลงานสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าของ.. “ฮิซาโกะ ยูกาวะ” ทนายความหญิงคนแรกของภูมิภาคคิวชู..ของญี่ปุ่น.หนึ่งในสี่ภูมิภาคหลัก..ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ..อันประกอบด้วยพื้นที่แห่งทะเลและภูขา..ที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมอันมีค่า..

..นี่คือ..หนังสือแห่งการแสดงถึง เคล็ดลับของความผูกพัน..ในลักษณะที่เมื่อชีวิตตระหนักถึง การดำรงอยู่ในระยะห่างที่เหมาะสม..ตลอดจนการประนีประนอมอันเหมาะควร..ชีวิตก็ย่อมได้พบกับ..ความอ่อนโยนที่น่าอัศจรรย์อยู่ซ้ำๆ..

“..สนิทสนมแค่ไหนก็ต้องรักษาระยะห่างอย่างพอเหมาะ..ระยะห่างนั้นจะช่วยให้ความสัมพันธ์อ่อนโยน..”

...มีความเชื่อที่เชื่อกันว่า..ระยะห่างคือระยะที่ปลอดภัยระหว่างกันในความรู้สึก เป็นสิ่งที่เป็นจริงในสังคม..เหตุนี้การก้าวข้ามระยะห่าง อาจทำให้รู้สึกถึงการต่อต้านมากขึ้นได้ .แต่..ก่อนหน้า..มีความเชื่อที่ฝังหัวหลายๆคนว่า “ระยะห่าง” เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ และ ผลักไสคนรักให้ห่างไกลไปมากกว่าเดิม..

แต่จริงๆแล้ว..การกำหนดขอบเขตพื้นที่ ไม่ใช่การแบ่งแยกหรือสร้างความเหินห่าง แต่เป็นการจัดปลอดภัยของความรู้สึกร่วมกัน..ทำให้เราสบายใจที่จะอยู่ด้วยกัน..ไม่กลืนกินชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป..จนทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง..

หลายสิ่งนี้จึงเป็นไป เพื่อผู้คนทุกเพศทุกวัย ที่ต้องการพัฒนาตัวเอง หรือรักษาความสัมพันธ์ ถนอมชีวิตคู่ ไปจนกระทั่งการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างคนในความรักและเพื่อนสนิท..

*คนเราจำเป็นต้องวางระยะห่างอย่างพอเหมาะกับปัญหา และกับตัวเอง.. “ชีวิตมนุษย์.. คือการค้นหาระยะห่างที่พอเหมาะพอดีกับใครสักคน ณ จังหวะเวลาเหล่านั้นน อย่างไม่มีวันสิ้นสุด..”

“ฮิซาโกะ” ..ได้เชิญชวนให้ทุกคนเปิดใจ สู่หนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่..เพื่อจะได้เป็นอีกส่วนหนึ่งของตัวช่วยสำคัญ ในการสืบทอดความสัมพันธ์ของตัวตนและคนรอบข้าง ให้แน่นแฟ้นมากกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสในครอบครัว ลูกสะใภ้..หรือแม้กระทั่งเพื่อนสนิท..

การถอยห่างจากความสัมพันธ์ ระหว่างตัวเรากับคนรอบข้างเพียงแค่ครึ่ง..จะช่วยให้เรามีความอ่อนโยน ถ่อมสุภาพ และใช้ชีวิตอย่างสบายใจมากขึ้น..

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า..ไฟโทสะ ความเคียดแค้นริษยา จะกัดกินหัวใจเราอยู่เสมอ และจะกลายเป็น ตัวการขัดขวางความพยายามในการเป็นคนที่ดีขึ้น..ของเราอยู่หรือเปล่า?

.. “จงเปิดใจ ไม่คิดลบ..การสะสมความคิดด้านลบ..จักไม่ก่อให้เกิด..ข้อดีใดๆเลยแก่ชีวิต..” ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่มีค่าต่อการสอนสั่ง ของหนังสือเล่มนี้...คือการที่จะต้องฝึกความอดทนเข้าไว้.. “อดทนเข้าไว้ เดี๋ยวดีเอง ปลายทางของความอดทน คือการอดทนกับเรื่องต่อไป...

“จงยินดีกับความวางใจ แต่อย่าฝืนอดทนกับความอึดอัดใจหรือความลำบากโดยเด็ดขาด”

ความอดทนจึงถือเป็นเกราะกำบังหัวใจที่เปราะบางของชีวิตมนุษย์ ยิ่งในยามที่ตกอยู่กับความอ่อนแอ สิ้นหวัง จนไม่สามารถ ที่จะย่างก้าวไปข้างหน้าได้..ความอดทนจะเป็นยารักษาชั้นดีต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคง และมีความหมาย..แท้จริง

“มนุษย์มีอนาคตเสมอ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่”..

ซึ่งการที่เรามีชีวิตอยู่มาถึงวันนี้ได้..ก็เพียงเพราะ มีใครบางคน โอบอุ้ม จดจำ เกี่ยวข้อง และมีชีวิตอยู่ด้วยความร่วมมือ จากคนจำนวนมาก..

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พบเจอจากหนังสือเล่มนี้..คือรากฐานของการพินิจพิเคราะห์ผู้อื่น ที่จักต้องดำเนินไป..อย่างมีข้อตระหนักและเข้าใจในด้านลึกแห่งกลไกของชีวิตระหว่างสัมผัสแห่งตัวตนของเราและผู้อื่น.. “ข้อดีของอีกฝ่าย ไม่สำคัญว่าจะมีหรือไม่..แต่มันขึ้นอยู่กับว่า..เรามองเห็นมันหรือเปล่า?”....”

โดยสัจธรรม..มนุษย์เกิดมาแล้ว..ก็ไม่สามารถเดินได้โดยทันที..ภาวะที่เราต่างมีชีวิตอยู่ได้ในขณะนี้..จึงคือบทพิสูจน์ว่า..มีตัวตนที่พยุงให้เรามีชีวิตอยู่ได้..

“มนุษย์จึงมีอนาคตเสมอ ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่...”

ณ ขณะที่โลกวันนี้ สร้างบทบาทชีวิตให้แก่พลเมืองโลก  ..ด้วยการถอยห่างจากกัน..จากความเป็นครอบครัว จากความเป็นญาติพี่น้อง..หรือกระทั่งจากความเป็นมิตรสหาย..เราต่างมีชีวิตอยู่ภายใต้ความหวังของการปล่อยวาง..เพื่อจะผูกพัน..

“ไม่มีใคร..ที่จะปราศจากเรื่องทุกข์ใจไปได้หรอก” มันเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง..ที่แสนจะธรรมดา.. !

ประเด็นสุดท้ายที่สัมผัสถึงสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้...ก็คือ..ภาวะแห่งใจและกายที่จะไม่ทะเลาะเบาะแว้ง เพราะมันไม่เพียงแต่จะทำให้เราเหนื่อยล้า และทำลายล้างจิตวิญญาณแห่งความสุขของเราเท่านั้น มันยังทำให้เกิดการพล่าผลาญห้วงเวลาสำคัญที่ล้ำค่าในชีวิต ไปอย่างสิ้นเปลือง..

“อย่าเสียเวลาชีวิต ไปกับการทะเลาะเบาะแว้ง..คนเราจำเป็นต้องวางระยะห่างอย่างพอเหมาะ..ทั้งกับปัญหาและตัวเอง....”

นี่คือหนังสือ..ในบริบทของการย้ำเตือนและสอนสั่ง เพื่อการเรียนรู้เบ้าหลอมแห่งปัญหาที่เลี่ยงไม่พ้นและต้องเผชิญหน้าในชีวิต..บางบทตอน..เร้าความรู้สึกที่ยากจะตีความและปฏิบัติ แต่ในบางสาระก็ง่ายงามที่จะจดจำในมโนสำนึก..ที่เป็นคุณประโยชน์..

“ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม” แปลและถอดความหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างลุ่มลึกและกระจ่างต่อความเข้าใจ..ความคิดในนามของความรู้คิดจากหนังสือเล่มนี้..คือเครื่องชี้ทางต่อการปรับแต่งองคาพยพแห่งความเป็นชีวิตของเราให้เป็นกลุ่มก้อนที่แหลมคม และเป็นปราชญ์สภาวะที่จะเตือนตน และส่องทางให้แก่..ชีวิตเหนือชีวิตต่อไป..ในนามของศรัทธา

มนุษย์ย่อมมีอนาคตเสมอ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่..แม้ความเหนื่อยยาก จะแปรเปลี่ยนเป็นความจริงแห่งความสุขล้ำ..แต่มันก็ย่อมจะต้องเป็น..สัญญาณของการเติบโตอันยั่งยืน ..ในวันคืนต่อไป..นับเนื่องจากปัจจุบัน..!

“...จงดื่มด่ำกับปัจจุบัน..ด้วยความนอบน้อมต่อกันและกันเถิด...”