จุกไปเลย! “เทพมนตรี” ออกบทวิเคราะห์ MOU44 วอนช่วยกันปกป้องราชอาณาจักรไทย จากนักการเมืองไทย
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์เฟซบุ๊กในรูปบทความเรื่อง “บทวิเคราะห์ MOU44” มีเนื้อหาว่า
MOU44 หรือ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย และนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 มีจำนวน 3 หน้ากระดาษ 2 หน้าแรกคือเนื้อหา กับ 1 หน้าหลังคือแผนที่แนบท้าย จากแหล่งอ้างอิงที่ได้มาต่างฝ่ายต่างถือกันคนละฉบับ
ฉบับของกัมพูชาเผยแพร่โดย Cambodian National Petroleum Authority (CPN) และอีกฉบับได้มาจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ( แผนที่แนบท้ายมีความแตกต่างกัน ) เนื้อหาใจความใน MOU44 ที่ทำหนังสือสัญญาระหว่างภาคีผู้ทำสัญญามีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ
ประการแรก ว่าด้วยเรื่องการแบ่งทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทย
ประการที่สอง ว่าด้วยเรื่องการแสวงประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียม ในรูปแบบสนธิสัญญาพัฒนาร่วม
สำหรับแผนที่แนบท้าย MOU44 แสดงเส้นอาณาเขตไหล่ทวีปของรัฐคู่ภาคีที่กระทำสัญญาไว้อย่างชัดแจ้งโดยอ้างเป็นหลักฐานทางกฎหมายด้วยการประกาศกันก่อนหน้านี้อย่างเป็นทางการของแต่ละฝ่าย ฝ่ายไทยประกาศเมื่อ พ.ศ.2516 และกัมพูชาประกาศเมื่อ พ.ศ.2515 โดยการประกาศนั้นเริ่มจุดอ้างอิงกันที่หลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด แล้วลากเส้นอาณาเขตไหล่ทวีปลงไปในทะเลอ่าวไทย จนเกิดเป็นพื้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน (ตามหลักความจริงแล้วในอนาคตเส้นนี้ควรจะมีเพียงเส้นเดียวไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกันได้ และมีแนวโน้มว่าเส้นอาณาเขตไหล่ทวีปของไทยมีความคงเส้นคงวาตามกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัมพูชา)
สำหรับหลักเขตที่ 73 ยังมีปัญหาในพิกัดที่ตั้งซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมดังนั้นจุดเริ่มต้นของเส้นทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปที่อ้างหลักเขตที่ 73 เป็นพื้นฐาน จึงน่าจะต้องมีการทบทวนใหม่ และการทบทวนนี้จำเป็นที่จะต้องพิจารณาในข้อบทที่ 5 อันเป็นข้อบังคับสำคัญของทั้งไทยและกัมพูชาที่ปรากฏใน MOU43 ว่าด้วย ( เขตแดนทางบก ) เมื่อหลักเขตที่ 73 ยังมีความไม่แน่นอนในสถานที่ตั้ง ณ ปัจจุบัน จึงสมควรงดเว้นการกระทำใดๆจนกว่าจะมีการตกลงเรื่องหลักเขตหลักนี้ให้แล้วเสร็จเสียก่อน
ดังนั้นการลงนามใน MOU44 โดยใช้แผนที่แนบท้ายจึงขัดกับข้อบทที่ 5 ใน MOU43
“รัฐบาลคุณชวนลงนาม MOU43 และดำเนินการร่าง MOU44 เอาไว้แล้ว รัฐบาลคุณทักษิณลงนามMOU44 ด้วยเหตุที่ได้เป็นรัฐบาล”
ลำดับเนื้อหาและประโยคใจความสำคัญ
คำปรารภของ MOU44 เป็นเรื่องบ่งชี้ถึงความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดแจ้ง คือฝ่ายไทยยอมรับที่จะนำเส้นอาณาเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเข้ามาสู่เวทีการเจรจา จนเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า การดำเนินการจัดการประชุมถึง 2 ครั้งก่อนหน้าวันลงนามใน MOU44 คือ การประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2543 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ( รัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ) และการประชุมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544 ที่จังหวัดเสียมเรียบ ( รัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ) การประชุมทั้งสองครั้งนั้นย่อมมีเนื้อหาใจความสำคัญที่ต่างฝ่ายต่างนำหลักฐานเอกสารและแผนที่เข้ามาเจรจา ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าตัวแทนฝ่ายไทยย่อมยอมรับให้กัมพูชานำแผนที่อาณาเขตไหล่ทวีปของตนมาร่วมกันจนกลายเป็นเส้นที่ปรากฏบนแผนที่แนบท้าย MOU ได้
อารัมภบทของ MOU44 มีดังนี้
“รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ( ต่อไปนี้เรียกว่าภาคีผู้ทำสัญญา ) ปรารถนาที่จะกระชับความผูกพันแห่งมิตรภาพซึ่งมีมาช้านานระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตระหนักว่าจากผลของการอ้างอิงสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทยทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน) พิจารณาว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศทั้งสองที่จะตกลงกันบนพื้นฐานที่ยอมรับได้ร่วมกันโดยเร็วสำหรับการแสวงประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ และรับทราบความเข้าใจซึ่งบรรลุร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของประเทศทั้งสองดังปรากฏบันทึกการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ”
สิ่งที่ตกลงกันใน MOU44 ปรากฏข้อบทจำนวน 5 ข้อ ข้อ 1 2 3 5 มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ส่วน ข้อ 4 เป็นเรื่องของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค สาระสำคัญในข้อตกลงมีดังนี้
“1.ภาคีผู้ทำสัญญาพิจารณาว่าเป็นที่พึงปรารถนาที่จะทำข้อตกลงชั่วคราวซึ่งมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องพื้นที่อ้างอิงสิทธิทับซ้อน
2.เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจา ที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน
(1) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตาม เอกสารแนบท้าย ( สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม ) และ
(2) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้ายเป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก ) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้
3. เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยและประเทศกัมพูชาซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากแต่ละประเทศแยกต่างหากจากกัน คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีหน้าที่รับผิดชอบ สำหรับการกำหนด
(1) เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม รวมถึงพื้นฐานซึ่งยอมรับร่วมกันในการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และ
(2) การแบ่งเขต ทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งใช้บังคับ
4.คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะประชุมกันโดยสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นว่าเหมาะสม
5.ภายใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา”
การลงนามบันทึกความเข้าใจของทั้งสองประเทศหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า MOU44 มิได้ลงนามโดยลำพัง เพราะยังมีการลงนามคำแถลงการณ์ร่วมไทยและกัมพูชาในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ ท่าน ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เนื้อหาในคำแถลงการณ์ร่วมแสดงถึงความร่วมมือในเรื่องต่างๆหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย เศรษฐกิจการค้า การลงทุน การคมนาคม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการตอกย้ำความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายในการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ ที่ไทยไปรับเอาเส้นเขตแดนไหล่ทวีปของกัมพูชาซึ่งไม่มีพื้นฐานทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใดขึ้นสู่โต๊ะการเจรจาในคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคที่จัดตั้งขึ้นตามข้อบทที่ 4 เนื้อหาในคำแถลงการณ์ร่วมปรากฏคำปรารภดังนี้
“ในระหว่างการเยือนครั้งนี้นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นประธานในพิธีการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อมุ่งพัฒนาสู่ศตวรรษที่ 21 และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อนกันเพื่อกำหนดพื้นฐานสำหรับเริ่มศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างกันเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ซึ่งทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ไหลทวีปทับซ้อนกัน”
นอกจากนี้ สาระสำคัญอันเป็นการตอกย้ำยังปรากฏในข้อ 14 ของแถลงการณ์ร่วมดังนี้
“14.ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจในความพยายามต่างๆซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันมาและให้การรับรองในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อนกันซึ่งลงนามโดยนายกซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและฯพณฯท่านนายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย”
ต่อมาภายหลังการรัฐประหารยังปรากฏเอกสารสำคัญขั้นความลับ คือ Agree Minute of Fifth Meeting of the Joint Commission for Bilatarel Cooperation … ในการประชุมของรัฐมนตรีทั้งสองประเทศระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2006 ลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งตรงกับรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในบันทึกฉบับนี้ตามข้อ 77
“77. Both sides are encouraged to negotiate for an acceptable solution on a joint development of petroleum resources in the overlapping maritime claims areas between the two countries, while the two side continue to sellte the maritime delimitation of the area to be delimited.”
จากข้อ 77. ของ Agree minute … ฉบับนี้ สอดคล้องต้องกันกับสนธิสัญญาพัฒนาร่วมตามข้อ 2 (ข) ใน MOU44 ที่เน้นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม โดยหลงลืม การแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของ “MOU44 “ อันเป็นเครื่องยืนยันความเข้าใจของประเทศทั้งสองว่า ไม่ว่าจะอ้างหลักฐานอย่างไรก็แล้วแต่ พื้นที่อันเป็นเป้าหมายของการเจรจาสองเรื่องตามที่กล่าวมาคือ เรื่องเขตแดนและเรื่องผลประโยชน์ของทรัพยากรในทะเลมีขอบเขตภายในแผนที่แนบท้ายที่ต่างฝ่ายต่างนำเสนอของตนจนกลายเป็นทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันนั่นเอง ทั้งนี้โดยปราศจากข้อความใดๆ ที่จะมีการดำเนินการหาทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปที่ถูกต้อง
ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของอ่าวไทย หรืออ่าวสยามในอดีต ก็จำต้องแบ่งทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งควรที่จะเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวให้กับกัมพูชาไป อย่างเท่าเทียมและเคารพสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วยมิตรภาพอันแน่นแฟ้น เป็นศตวรรษที่ราชอาณาจักรไทยได้เสียดินแดนทางบกและทางทะเลอย่างสมบูรณ์
เสียดินแดนทางบกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และ…เสียดินแดนทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จะหานักการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเข้ามาร่วมรับผิดชอบ เพราะการเสียดินแดนทางทะเลจะเกิดจากองค์กรระหว่างประเทศในสหประชาชาติที่เรียกว่า “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ที่มีทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยผูกขาดเป็นเจ้าของ ซึ่งเราเคยเสียดินแดนทางบกมาแล้ว
สมเด็จฮุนเซนได้ดินแดนทางบกรอบปราสาทพระวิหารไปฉลองอิสริยยศที่ได้รับ สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชาสีหนุ
ฮุนมาเนต บุตรชายคนโปรด นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กำลังจะได้ทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียงและผลงานชิ้นโบแดงที่แม้แต่นายพลลอนนอลก็มิอาจเทียบเทียมได้
เรื่องสุดท้ายของสุดท้ายคำถามในใจเมื่อได้ศึกษา MOU44
สิ่งที่ขาดหายไปคือเอกสาร 3 ฉบับนี้
(ก) รายงานการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อเตรียมความพร้อมลงนามฉบับชะอำและฉบับเสียมเรียบ
(ข) ร่างสนธิสัญญาพัฒนาร่วมตามข้อ 2 (ข)
(ค) รายงานของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (ระหว่างปี พ.ศ.2544-ปัจจุบัน)
ช่วยกันปกป้องราชอาณาจักรไทย จากนักการเมืองไทยกันนะครับ